Saturday, December 20, 2008

การศึกษาความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี

บทที่ 1
บทนำ


ภูมิหลัง
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับมนุษย์ที่อยู่ในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผลจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม นวัตกรรม และเทคโนโลยีนั้น ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข และเป็นผู้ที่สามารถปรับตัวและรู้จักคิดแก้ปัญหาต่างๆ เฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว (วราภรณ์ รักวิจัย. 2540 : 159) ความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะที่ควรได้รับการส่งเสริมและปลูกฝังอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพของตนเองในการคิด พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง พัฒนาความเป็นผู้นำ พัฒนาทักษะใหม่ๆ เรียนรู้ที่จะมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง และรู้จักที่จะแสวงหาคำตอบหลายๆ อย่างเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เด็กเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ และพร้อมที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์และจรรโลงสังคม ประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป (ขวัญฟ้า รังสิยานนท์. 2535 : 2) ซึ่งในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ต้องมีแรงสนับสนุนจากสุนทรียะ ดังที่ วิรุณ ตั้งเจริญ (2545 : 38) ได้กล่าวไว้ว่า การที่บุคคลมีสุนทรียะหรือมีปฏิกิริยาต่อความงามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัตถุ เหตุการณ์ สิ่งเหล่านี้มีสภาพเป็นแรงบันดาลใจที่จะกระตุ้นความรู้สึก กระตุ้นการรับรู้ และจะพัฒนาความรู้สึกนึกคิดไปสู่การแสดงออก การสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ
จากการศึกษาของนักการศึกษาและข้อค้นพบทางการแพทย์พบว่า ในช่วงแรกของชีวิตจนถึง 6 ปี เป็นระยะที่เซลสมองเจริญสูงสุด การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้ เพราะในช่วง 6 ขวบแรกของชีวิตเป็นระยะที่เด็กมีจินตนาการสูง ศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์กำลังพัฒนา หากเด็กได้รับการจัดประสบการณ์หรือกิจกรรมที่เหมาะสมต่อเนื่องเป็นลำดับ ก็เท่ากับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงสำหรับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กในวัยต่อมา (เยาวพา เดชะคุปต์. 2542 : 86) จากการศึกษาของโลเวนเฟลด์และบริทเทน (Lowenfeld and Brittain. 1987 : 76 อ้างถึงใน สุวรรณา ก้อนทอง. 2547 : 1) พบว่า พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจะมีสูงมาก ตั้งแต่อายุ 4 ปีขึ้นไป เด็กในวัยนี้จะเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น และจินตนาการ แต่เมื่ออย่างเข้าอายุ 8 – 9 ปี พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์ของเด็กจะลดต่ำลง และจะต่ำลงอีกช่วงหนึ่งประมาณอายุ 13 – 14 ปี ซึ่งหากเด็กได้รับการพัฒนาตั้งแต่ในระยะแรกๆ จะทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ และได้มีการพัฒนาเป็นอย่างดี คุณภาพของเด็กจะดีในอนาคต (อารี พันธ์มณี. 2537 : 6) ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก โดยให้มีพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่วัยเด็กและพัฒนาติดต่อกันถึงขั้นระดับสูง ซึ่งความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาได้ด้วยการสอน ฝึกฝน และฝึกปฏิบัติที่ถูกวิธี และยิ่งส่งเสริมให้เด็กตั้งแต่วัยเยาว์ได้เท่าใด ก็ยิ่งเป็นผลดีมากขึ้นเท่านั้น (วราภรณ์ รักวิจัย. 2535 : 160 - 161)
ในปัจจุบันสภาพการเรียนการสอนในห้องเรียนยังไม่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากนัก ซึ่งเห็นได้จาก การที่เด็กแสดงพฤติกรรมคล้อยตามเนื่องจากได้รับแรงเสริมจากครูผู้สอน มากกว่าพฤติกรรมที่แปลกใหม่หรือพฤติกรรมที่สื่อให้เห็นถึงความกล้าแสดงออกด้วยตัวเด็กเอง และยังพบว่าผู้สอนที่ต้องการสอนให้เด็กของตนเกิดความคิดสร้างสรรค์ยังมีปัญหาเรื่องกลวิธีการสอน จึงไม่สามารถสอนให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ได้ (กุญชรี ค้าขาย. 2540 : 149) วิธีการอบรมเลี้ยงดูที่บังคับ เข้มงวด ลงโทษ และปกป้องเกินควรของผู้ปกครองในปัจจุบัน รวมถึงวิธีการสอนของครูในโรงเรียนและความไม่เข้าใจในหลักการของความคิดสร้างสรรค์ เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยทั้งสิ้น (อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์. 2545 : 79) นอกจากนี้ยังพบว่า สังคมที่เปลี่ยนไป มนุษย์แสวงหาวัตถุมากขึ้น และมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากขึ้น ตลอดจนในระบบการศึกษาก็ได้มีการจัดการสอนและพัฒนาบุคคลแบบแยกส่วน กล่าวคือ สอนให้มีความรู้และความสามารถเพียงอย่างเดียว เป็นการสอนที่แยกเหตุผลออกจากจินตนาการ สมองและจิตใจทำงานไม่สัมพันธ์กัน จึงทำให้มนุษย์ขาดจิตวิญญาณ และความรู้สึกทางสุนทรียะ จึงก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมเพิ่มมากขึ้น (วิรุณ ตั้งเจริญ. 2546 : 113 - 115)
จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยพบว่า มีการจัดกิจกรรมและประสบการณ์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยหลายวิธี เช่น กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะที่เน้นเทคนิคในการสื่อความหมายทำให้เด็กปฐมวัยมีความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้น (นิรัตน์ กรองสะอาด. 2535 : 72) จากงานวิจัยของ ธูปทอง ศรีทองท้วม (2538 : 75) พบว่า การจัดประสบการณ์กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะโดยใช้กิจกรรมทักษะดนตรี มีผลทำให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยสูงขึ้น และ พิรัฐา โพธิ์นคร (2549 : บทคัดย่อ) ยังได้ศึกษาพบว่า การจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะมีผลทำให้เด็กปฐมวัยที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมีระดับความคิดสร้างสรรค์ที่ดีขึ้น นอกจากนั้น ดนตรีก็สามารถช่วยสร้างเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ช่วยควบคุมจิตใจให้เด็กเป็นคนดี (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2540 : 70) ดนตรีจัดเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่เด็กก่อนวัยเรียนควรได้รับจากกระบวนการเรียนการสอน และในการสอนดนตรีของเด็กก่อนวัยเรียนนั้นควรจะสอดแทรกกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นการทำให้เด็กมีความเข้าใจเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ทางดนตรีมากยิ่งขึ้น เช่น เรื่องจังหวะ เสียงสูง – ต่ำ ความดัง – ค่อย เป็นต้น (พราวพรรณ เหลืองสุวรรณ. 2536 : 127) นอกจากนี้ สุวรรณา ก้อนทอง (2547 : 72) ยังได้ศึกษาพบว่า การจัดกิจกรรมศิลปะประกอบเสียงดนตรีคลาสสิกมีส่วนช่วยในการจูงใจให้เด็กเกิดความสบายใจและมีความรู้สึกในทางที่ดี ช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กปฐมวัย
จากสภาพปัญหาและการศึกษาผลงานวิจัยดังที่ได้กล่าวมา ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี เพื่อให้เด็กเกิดจินตนาการ ความรู้สึกสุนทรียะ ตอบสนองต่อดนตรีด้วยการเคลื่อนไหว

ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
1. เพื่อศึกษาพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี
2. เพื่อศึกษาพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย ก่อนและหลังการได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี

ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า
ผลของการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบถึงพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี ช่วยให้ครูผู้สอนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ได้ตระหนักถึงคุณค่าของกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี และสามารถนำวิธีการจัดกิจกรรมไปใช้ในการพัฒนาและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสุนทรียภาพแก่เด็กปฐมวัยได้ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
1. ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นเด็กปฐมวัย อายุระหว่าง 3 – 4 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปภัมถ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 20 คน
2. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักเรียนโรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปภัมถ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อายุระหว่าง 3 – 4 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาล 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 จำนวน 10 คน โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (simple random sampling)
3. ระยะเวลาในการทดลอง ใช้เวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 คาบ คาบละ 20 นาที รวมทั้งสิ้น 30 คาบ
4. ตัวแปรที่ศึกษา
4.1 ตัวแปรอิสระ คือ การเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี
4.2 ตัวแปรตาม คือ 1. ความคิดสร้างสรรค์
2. สุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย

นิยามศัพท์เฉพาะ
1. เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กที่มีอายุระหว่าง 3 – 4 ปี ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยา นิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
2. ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ความสามารถของเด็กในการใช้กระบวนการทางความคิดจินตนาการ ผสมผสานกับความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ ทำให้เกิดการคิดค้นประดิษฐ์และดัดแปลง จนเกิดรูปแบบการเคลื่อนไหวที่แปลกใหม่ มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเอง โดยมีพฤติกรรมที่แสดงออก อันประกอบด้วย
2.1 การแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวเหมือนตัวอย่างหรือลอกเลียนแบบเพื่อน หรือทำตามคำแนะนำของครู
2.2 การแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง มีความแปลกใหม่เพิ่มขึ้นจากเดิม
2.3 การแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง มีความแปลกใหม่ สอดคล้องและสัมพันธ์กับดนตรีและอุปกรณ์ที่ใช้
ซึ่งวัดด้วยแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์โดยการวาดภาพของ เจลเลนและเออร์บัน และแบบประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ที่ดัดแปลงจาก กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 (2548 : 16)
3. สุนทรียภาพ หมายถึง ความซาบซึ้งในคุณค่าความงามของการเคลื่อนไหว และดนตรี ซึ่งเกิดจากการรับรู้โดยผ่านประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เกิดความเพลิดเพลิน พึงพอใจและมีความสุข ซึ่งประกอบด้วย
3.1 การเคลื่อนไหว หมายถึง การใช้ร่างกายส่วนต่างๆ เคลื่อนไหวให้สัมพันธ์กับพื้นที่ จังหวะได้อย่างกลมกลืน
3.2 ความสนใจ หมายถึง การทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจและมีความกระตือรือร้นที่จะทำกิจกรรม
3.3 ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน หมายถึง การทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ
ประกอบดนตรีด้วยความสนุกสนาน เพลิดเพลิน มีความสุขกับการทำกิจกรรมและแสดงออกทางอารมณ์ได้เหมาะสมกับดนตรี
3.4 ความสอดคล้อง หมายถึง การทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะได้สอดคล้องกับเนื้อหา จังหวะ และทำนองของดนตรี และใช้อุปกรณ์ประกอบการเคลื่อนไหวได้อย่างกลมกลืมและสอดคล้องกัน
ซึ่งด้วยแบบสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยดัดแปลงจาก บุษบง ตันติวงศ์ (2549 : 12 - 14)
4. กิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี หมายถึง การจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายอย่างอิสระตามลักษณะของดนตรีคลาสสิค เน้นการใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ทั้งเดี่ยวและกลุ่ม มีทั้งกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะที่เป็นกิจกรรมพื้นฐานและกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะที่เป็นกิจกรรมสัมพันธ์เนื้อหา อันประกอบไปด้วยการรู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย พื้นที่ จังหวะ ทิศทาง และระดับ การสำรวจร่างกายเพื่อให้สัมพันธ์กับพื้นที่และบุคคลที่อยู่รอบตัว ซึ่งในกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรีจะมีทั้งการเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้อุปกรณ์ประกอบและการเคลื่อนไหวที่ใช้อุปกรณ์ประกอบ ได้แก่ ผ้า กระดาษ ริบบิ้น ไม้ เชือก และอื่นๆ

สมมติฐาน
1. เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย หลังการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรีแตกต่างจากก่อนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี
2. เพื่อเปรียบเทียบพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย หลังการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรีแตกต่างจากก่อนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี


บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง


การวิจัยในครั้งนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกตามหัวข้อดังนี้
1. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
1.1 ความหมายของความคิดสร้างสรรค์
1.2 ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์
1.3 องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์
1.4 กระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์
1.5 พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์
1.6 ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
1.7 ลักษณะของเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์
1.8 แนวทางในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
1.9 งานวิจัยที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์
2. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียภาพ
2.1 ความหมายของสุนทรียภาพ
2.2 ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ
2.3 การสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ
2.4 สุนทรียภาพกับการทำงานของสมอง
2.5 สุนทรียภาพของการเล่น
2.6 การพัฒนาค่านิยมด้านสุนทรียภาพในตัวบุคคล
3. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.1 ความหมายของการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.2 ความสำคัญของการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.3 องค์ประกอบของการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.4 การจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.5 ลักษณะของการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.6 ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.7 หลักในการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.8 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและจังหวะ

4. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรี
4.1 ความหมายของดนตรี
4.2 ความสำคัญและคุณค่าของดนตรี
4.3 องค์ประกอบของดนตรี
4.4 ลักษณะของดนตรี
4.5 ลักษณะของดนตรีคลาสสิก
4.6 ดนตรีกับเด็กปฐมวัย
4.7 ดนตรีกับความคิดสร้างสรรค์
4.8 แนวการจัดกิจกรรมดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย
4.9 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรี

1. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
1.1 ความหมายของความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะที่มีอยู่ในตัวบุคคล และเป็นความสามารถอย่างหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่านด้วยกัน ดังนี้
ออสบอร์น (Osborn. 1957 : 23) กล่าวถึง ความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นจินตนาการประยุกต์ (Applied Imagination) คือ เป็นจินตนาการที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่มนุษย์ประสบอยู่ มิใช่เป็นจินตนาการที่ฟุ้งซ่านเลื่อนลอย โดยทั่วไปความคิดจินตนาการจึงเป็นลักษณะสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ในการนำไปสู่ผลผลิตที่แปลกใหม่และเป็นประโยชน์
กู้ด (Good. 1959 : 570 ) ให้ความหมายความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นความช่างคิดในการสำรวจตรวจสอบสถานการณ์ที่แปลกใหม่ หรือใช้วิธีการใหม่แก้ปัญหาเก่าๆ หรือ เป็นผลผลิตที่ริเริ่มขึ้นใหม่จากนักคิด
ไมล์ (Mile. 1961 : 1 อ้างถึงใน อารี พันธ์มณี. 2546 : 154) อธิบายว่า เป็นกระบวนการในการคิดสิ่งใหม่ๆ โดยการรวบรวมขึ้นมาใหม่หรือจากรูปแบบของวัสดุอุปกรณ์ การเคลื่อนไหวใหม่ๆ ผลิตคำหรือสัญลักษณ์ใหม่ หรือเป็นแนวความคิดใหม่ที่ทำให้ผลผลิตดีกว่าเดิม
เกทเซลและแจ็คสัน (Getzels & Jackson. 1962 : 455 – 460) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ เป็นลักษณะความคิดที่หาคำตอบหลายๆ คำตอบ เพื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผู้ที่มีอิสระในการตอบสนองจึงจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้มาก
ทอร์แรนซ์ (Torrance. 1962 : 16) ได้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ว่าเป็นความสามารถของบุคคลในกระบวนการคิดสร้างสรรค์ ผลิตผลหรือสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเกิดจากการรวบรวมเอาความรู้ต่างๆ ที่ได้จากประสบการณ์แล้วรวบรวมความคิดเป็นสมมติฐาน และทำการทดสอบสมมติฐานและรายงานผลที่ได้รับจากการค้นพบ
เทเลอร์ (Taylor. 1964 : 108 – 109) ได้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ว่า เป็นความสามารถที่จะคิดย้อนกลับเพื่อแก้ปัญหาแนวทางใหม่ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วยความคล่องแคล่วในการคิด เป็นการกระตุ้นความคิดจากภายใน และร่วมกันใช้ความคิดเหล่านี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและความมั่นใจมากขึ้น ความคิดยืดหยุ่นเป็นการพิจารณาปัญหาได้หลายแง่ และความคิดริเริ่มเป็นการพิจารณาสิ่งต่างๆ ในทางที่แปลกใหม่
วอลลาชและโคแกน (Wallach and Kogan. 1965 : 34) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึง ความสามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์ กล่าวคือ เมื่อระลึกถึงสิ่งใดได้ก็จะเป็นแนวทางให้ระลึกถึงสิ่งอื่นเป็นลูกโซ่ เช่น เมื่อเห็นโต๊ะก็ทำให้นึกถึงเก้าอี้ เป็นต้น สิ่งที่ระลึกออกมาต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เก็บสะสมไว้ในสมองของตน เมื่อสิ่งเร้ามากระตุ้นก็จะตอบสนองออกมา ฉะนั้นอาจกล่าวได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการอันหนึ่งที่อยู่ระหว่างสิ่งเร้ากับการตอบสนอง
กิลฟอร์ด (Guilford. 1967 : 61) ให้ความหมายว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นลักษณะความคิดอเนกนัย (Divergent Thinking) คือ ความคิดหลายทิศทาง หลายแง่หลายมุม คิดได้กว้างไกล ลักษณะความคิดเช่นนี้จะนำไปสู่ความคิด การประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ รวมทั้งการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาได้สำเร็จด้วย ความคิดอเนกนัย ประกอบด้วยความคิดริเริ่ม (Originality) ความคิดคล่องตัว (Fluency) ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) และความคิดละเอียดลออ (Elaboration)
อารี พันธ์มณี (2546 : 155) ได้ให้ความหมายของความคิดสร้างสรรค์ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการทางสมองที่คิดในลักษณะอเนกนัยอันนำไปสู่การค้นพบสิ่งแปลกใหม่ ด้วยการคิดดัดแปลง ปรุงแต่งความคิดเดิมผสมผสานกันให้เกิดสิ่งใหม่ ซึ่งรวมทั้งการประดิษฐ์ค้นพบสิ่งต่างๆ ตลอดจนวิธีการคิด ทฤษฎี หลักการได้สำเร็จความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้นี้มิใช่เพียงแต่คิดในสิ่งที่เป็นไปได้หรือสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ความคิดจินตนาการก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่จะก่อให้เกิดความแปลกใหม่แต่ต้องควบคู่กันไปกับความพยายามที่จะสร้างความคิดฝันหรือจินตนาการให้เป็นไปได้ หรือที่เรียกว่า จินตนาการประยุกต์นั่นเอง จึงจะทำให้เกิดผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ขึ้น
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็นกระบวนการทางสมอง มีเป็นลักษณะความคิดอเนกนัย (Divergent Thinking) คือ ความคิดหลายทิศทาง หลายแง่หลายมุม คิดได้กว้างไกล ลักษณะความคิดเช่นนี้จะนำไปสู่ความคิด การประดิษฐ์สิ่งแปลกใหม่ รวมทั้งการคิดหาวิธีการแก้ปัญหาได้สำเร็จด้วย ความคิดอเนกนัย ประกอบด้วยความคิดริเริ่ม (Originality) ความคิดคล่องตัว (Fluency) ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) และความคิดละเอียดลออ (Elaboration)

1.2 ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่แสดงออกมาได้ในหลายๆ แบบ เช่น การเคลื่อนไหว การแสดงละคร งานศิลปะอื่นๆ หรือแม้แต่การแสดงออกทางภาษา และมีนักการศึกษาได้อธิบายถึงความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ไว้ ดังนี้
อารี สัณหฉวี (2511 : 424) กล่าวว่า การศึกษาเพื่อความสร้างสรรค์เป็นสิ่งจำเป็นในสังคมปัจจุบัน เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงมีปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เด็กจะต้องฝึกฝนให้รู้จักคิดสิ่งใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่ต้องพบในชีวิตประจำวัน
ชาญชัย อินทรประวัติ (2518 : 19) ได้ให้ความเห็นว่า ความคิดสร้างสรรค์มีความจำเป็นต่อชีวิต เพราะในการให้การศึกษาแก่เด็กไม่สามารถจะสอนทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การสอนเด็กให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ จึงมีโอกาสนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาได้ดี
เฮอร์ลอค (Hurlock. 1972 : 319) ได้กล่าวถึงคุณค่าของความคิดสร้างสรรค์ว่า ความคิดสร้างสรรค์ให้ความสนุก ความสุขและความพอใจแก่เด็กและมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของเด็กมาก ไม่มีอะไรที่จะทำให้เด็กรู้สึกหดหู่ได้เท่ากับงานสร้างสรรค์ของเขาถูกตำหนิ ถูกดูถูกหรือถูกคิดว่าสิ่งที่เขาสร้างนั้นไม่เหมือนของจริง
เจอร์ซิล (Jersild. 1972 : 153 – 158) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์มีส่วนช่วยในการส่งเสริมเด็กในด้านต่างๆ ได้แก่
1. ส่งเสริมสุนทรียภาพ เด็กจะรู้จักชื่นชมและมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งต่างๆ ผู้ใหญ่ควรทำเป็นตัวอย่าง โดยการยอมรับและชื่นชมในผลงานของเด็กๆ การพัฒนาสุนทรียภาพแก่เด็ก โดยให้เด็กเห็นว่าทุกๆ อย่างมีความหมายสำหรับตัวเขา ส่งเสริมให้รู้จักสังเกตสิ่งที่แปลกจากสิ่งธรรมดาสามัญ ให้ได้ยินในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินและหัดให้เด็กสนใจในสิ่งต่างๆ รอบตัว
2. ผ่อนคลายอารมณ์ การทำงานสร้างสรรค์เป็นการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความกดดัน ความคับข้องใจและความก้าวร้าวลง
3. สร้างนิสัยในการทำงานที่ดี ขณะที่เด็กทำงาน ครูควรสอนระเบียบและนิสัยที่ดีในการทำงานควบคู่ไปด้วย เช่น หัดให้เด็กรู้จักเก็บของเป็นที่ ล้างมือเมื่อทำงานเสร็จ
4. การพัฒนากล้ามเนื้อมือ เด็กสามารถพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่จากการเล่น การเคลื่อนไหว การเล่นบล็อก และการพัฒนากล้ามเนื้อเล็กจากการตัดกระดาษ ประดิษฐ์ภาพ วาดภาพด้วยนิ้วมือ การต่อภาพ การเล่นกระดานตะปู
5. การเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ ค้นคว้าทดลอง เด็กจะชอบทำกิจกรรมและใช้วัสดุต่างๆ กัน เพื่อสร้างสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสที่เด็กจะใช้ความคิดริเริ่มและจินตนาการของเขาสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้น ครูจึงควรจัดหาวัสดุต่างๆ ไว้ให้กับเด็กมีโอกาสพัฒนาการทดลองของตน เช่น กล่องยาสีฟัน เปลือกไข่และเศษวัสดุเหลือใช้ เพื่อให้เขาฝึกสมมติเป็นนักก่อสร้างหรือสถาปนิก
อารี รังสินันท์ (2532 : 498) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อตนเองและสังคม ดังนี้
1. ต่อตนเอง
1.1 ลดความเครียดทางอารมณ์ บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ต้องการแสดงออกอย่างอิสระทั้งความคิดและการปฏิบัติ มีความมุ่งมั่นจริงจังในสิ่งที่คิด หากได้ทำตามที่คิดจะทำให้ลดความเครียดและความกังวล เพราะได้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตนเองซึ่งลักษณะต่างๆ ที่บุคคลที่สร้างสรรค์ต้องการตอบสนอง ได้แก่ ความอยากรู้อยากเห็น ความสนใจที่จะศึกษาค้นคว้าเผชิญกับสิ่งที่ท้าทายความสามารถ เป็นต้น
1.2 มีความสนุกสนาน เพลิดเพลินและเป็นสุข บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์เมื่อได้ทำสิ่งที่ตนได้คิด ได้เล่น ได้ทดลองกับความคิดจะรู้สึกพอใจ ตื่นเต้นกับผลงานที่เกิดขึ้น จะทำงานอย่างเพลิดเพลินทุ่มเทอย่างจริงจังและเต็มกำลังความสามารถและทำอย่างเป็นสุข แม้จะเป็นงานหนักแต่จะเป็นเรื่องที่ง่ายและเบา จะเห็นได้ว่าการทำงานของศิลปิน นักวิทยาศาสตร์และนักสร้างสรรค์สาขาต่างๆ จะใช้เวลาทำงานติดต่อกันครั้งละหลายๆ ชั่วโมง และทำอย่างต่อเนื่องนานหลายปีจนค้นพบบางสิ่งบางอย่างที่สามารถผลผลิตผลงานสร้างสรรค์ขึ้นมาได้
1.3 มีความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเอง การได้ทำในสิ่งที่ตนคิด ได้ทดลอง ได้ปฏิบัติจริง เมื่องานนั้นประสบความสำเร็จจะทำให้บุคคล เกิดความภาคภูมิใจและเชื่อมั่นในตนเอง หากงานนั้นไม่สำเร็จบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเข้าใจและยอมรับผลที่เกิดขึ้น ได้เรียนรู้และค้นพบบางสิ่งบางอย่าง ความไม่สำเร็จ ช่วงนี้จะเป็นพื้นฐานให้เกิดความมุมานะพยายามและมีความกล้าที่จะก้าวไปข้างหน้าเพื่อความสำเร็จต่อไป
2. ต่อสังคม
2.1 ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะผลงานสร้างสรรค์นำมาซึ่งความแปลกใหม่ ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้า ถ้าสังคมหยุดนิ่งจะทำให้สังคมนั้นล้าหลัง
2.2 เครื่องจักร รถยนต์ รถแทรกเตอร์ เครื่องวิดน้ำ เครื่องนวดข้าว เครื่องเก็บผลไม้ เครื่องบด สิ่งเหล่านี้ช่วยในการผ่อนแรงของมนุษย์ได้มาก ช่วยลดความเหนื่อยยาก ลำบากและทนทรมานได้มาก ไม่ต้องทำงานหนัก ทำให้ชีวิตมีความสุขมากขึ้น
2.3 ช่วยให้เกิดความสะดวกสบาย รวดเร็ว การค้นพบรถจักรยาน รถยนต์ เรือที่ใช้เครื่องจักร รถไฟ เครื่องบิน ยานอวกาศ ทำให้การคมนาคม ติดต่อกัน การเดินทางขนส่งสะดวกสบาย ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้น
2.4 ความปลอดภัยในชีวิตและการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น การค้นพบทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตมนุษย์ไม่ต้องเสี่ยงอันตราย การค้นพบยารักษาโรค วัณโรค เป็นต้น การค้นพบความรู้ใหม่ๆ ในเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย การดูแลสุขภาพอนามัยต่างๆ ทำให้ประชาชนรู้จักปฏิบัติตนในด้านการป้องกัน ดูแลรักษาสุขภาพอนามัยทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น
2.5 ช่วยประหยัดเวลา แรงงานและเศรษฐกิจ ผลการค้นพบในด้านต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การแพทย์ การศึกษา การเกษตรช่วยให้มนุษย์มีเวลามากขึ้นสามารถนำพลังงานนำไปใช้ทำอย่างอื่นเพื่อก่อให้เกิดรายได้และเพิ่มพูนเศรษฐกิจได้มากขึ้น มีเวลาหาความรู้ ชื่นชมกับความงาม สุนทรียภาพและศิลปะได้มากยิ่งขึ้น
2.6 ช่วยในการแก้ปัญหาสังคม เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องคิดหรือหาวิธีใหม่ๆ มาใช้ในการแก้ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นให้หมดไป
2.7 ช่วยให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและดำรงไว้ซึ่งมนุษยชาติ ความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศิลปะ เทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น ช่วยยกมาตรฐานการดำรงชีวิต ทำให้มนุษย์เป็นสุขและสามารถสร้างสรรค์สังคมให้เจริญขึ้นตามลำดับ
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ความคิดสร้างสรรค์มีความสำคัญในการช่วยส่งเสริมสุนทรียภาพให้แก่เด็ก เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ ค้นคว้าทดลอง เป็นการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความกดดัน ความคับข้องใจและความก้าวร้าวลง นอกจากนี้ความคิดสร้างสรรค์ยังให้ความสนุก ความสุขและความพอใจแก่เด็กและมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพของเด็กเป็นอย่างมาก

1.3 องค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์
กิลฟอร์ด (Guilford. 1969 : 145 – 151) กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐาน 4 ประการ คือ
1. ความคิดริเริ่ม (Originality) หมายถึง ลักษณะความคิดที่แปลกใหม่และแตกต่างไปจากความคิดธรรมดา เป็นความคิดที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม ความคิดริเริ่มอาจเกิดจากการนำเอาความรู้เดิมมาคิดดัดแปลงประยุกต์ให้เกิดเป็นสิ่งใหม่ขึ้น เช่น การคิดเครื่องบินได้สำเร็จก็ได้แนวคิดมาจากการทำเครื่องบินร่อน เป็นต้น
ความคิดริเริ่ม เป็นลักษณะความคิดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นความคิดที่แปลกแตกต่างจากความคิดเดิมและอาจไม่เคยมีใครนึกหรือคิดถึงมาก่อน ความคิดริเริ่มจำเป็นต้องอาศัยลักษณะความกล้าคิด กล้าลอง เพื่อทดสอบความคิดของตน บ่อยครั้งที่ความคิดริเริ่มจำเป็นต้องอาศัยความจินตนาการหรือที่เรียกว่า จินตนาการประยุกต์ คือ ไม่ใช่คิดเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องคิดสร้างและหาทางทำให้เกิดผลงาน ตัวอย่างเช่น เคยมีผู้กล่าวว่าคนที่คิดอยากจะบินนั้นประหลาดและไม่มีทางเป็นไปได้ ต่อมาพี่น้องตระกูลไรท์ก็สามารถคิดประดิษฐ์เครื่องบินได้สำเร็จ เป็นต้น
2. ความคิดคล่องแคล่ว (Fluency) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการคิดหาคำตอบได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว และมีปริมาณมากในเวลาที่จำกัด แบ่งเป็น
2.1 ความคิดคล่องแคล่วทางด้านถ้อยคำ (Word Fluency) เป็นความสามารถในการใช้ถ้อยคำอย่างคล่องแคล่ว
2.2 ความคิดคล่องแคล่วทางด้านการโยงความสัมพันธ์ (Associational Fluency) เป็นความสามารถที่จะคิดหาถ้อยคำที่เหมือนกันหรือคล้ายกันได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ภายในเวลาที่กำหนด
2.3 ความคิดคล่องแคล่วทางการแสดงออก (Expressional Fluency) เป็นความสามารถในการใช้วลี หรือประโยค และนำคำมาเรียงกันอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้ประโยคที่ต้องการ
2.4 ความคิดคล่องแคล่วในการคิด (Ideational Fluency) เป็นความสามารถที่จะคิดในสิ่งที่ต้องการภายในเวลาที่กำหนด ความคล่องในการคิดมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหา เพราะในการแก้ปัญหาจะต้องแสวงหาคำตอบหรือวิธีแก้ไขหลายวิธี และต้องนำวิธีการเหล่านั้นมาทดลองจนกว่าจะพบวิธีการที่ถูกต้องตามที่ต้องการ
ความคิดคล่องแคล่วนับว่าเป็นความสามารถอันดับแรกในการทำจะพยายามเลือกเฟ้นให้ได้ความคิดที่ดีและเหมาะสมที่สุด กล่าวคือ ก่อนอื่นต้องคิดให้ได้มาก หลายอย่างและแตกต่างกัน แล้วจึงนำเอาความคิดที่ได้ทั้งหมดมาพิจารณาแต่ละอย่าง เปรียบเทียบกันว่าความคิดอันใดจะเป็นความคิดที่ดีที่สุดและให้ประโยชน์คุ้มค่าที่สุด โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณา เช่น ประโยชน์ที่ได้รับ การลงทุน ความยากง่าย บุคลากร เป็นต้น ความคิดคล่องแคล่วนอกจากจะช่วยให้ได้เลือกคำตอบที่ดีและเหมาะสมที่สุดแล้ว ยังช่วยจัดหาทางเลือกอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในการแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามเรามักจะพยายามหาวิธีการแก้หลายๆ วิธี โดยให้โอกาสในการเลือกเป็นอันดับลดหลั่นกันลงมา เช่น ถ้าเราไม่สามารถทำได้อย่างวิธีที่ 1 วิธีที่ 2 ก็อาจนำมาทดลองใช้ได้ หรือวิธีที่ 3 ก็ยังเป็นที่น่าสนใจถ้าวิธีที่ 2 ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เป็นต้น ความคิดคล่องแคล่วช่วยให้มีข้อมูลมากพอในการเลือกสรรแล้ว ยังมีช่องทางอื่นที่เป็นไปได้ให้เลือกด้วย จึงนับได้ว่าความคิดคล่องแคล่วเป็นความสามารถเบื้องต้นที่จะนำไปสู่ความคิดที่มีคุณภาพหรือความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง
3. ความคิดยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึง ความสามารถของบุคคลในการคิดหาคำตอบได้หลายประเภทและหลายทิศทาง แบ่งออกเป็น
3.1 ความคิดยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นทันที (Spontaneous Flexibility) เป็นความสามารถที่จะพยายามคิดได้หลายอย่างอย่างอิสระ เช่น คนที่มีความคิดยืดหยุ่นในด้านนี้จะคิดได้ว่าประโยชน์ของก้อนอิฐมีอะไรบ้าง หลายอย่างและคิดได้หลายทิศทาง ในขณะที่คนซึ่งไม่มีความคิดยืดหยุ่นจะคิดได้เพียงอย่างเดียวหรือสองอย่างเท่านั้น
3.2 ความคิดยืดหยุ่นทางด้านการดัดแปลง (Adaptive Flexibility) เป็นความสามารถที่จะคิดได้หลากหลายและสามารถคิดดัดแปลงจากสิ่งหนึ่งไปเป็นหลายสิ่งได้ ซึ่งคนที่มีความคิดยืดหยุ่นจะคิดได้ไม่ซ้ำกัน ยกตัวอย่างเช่น
คำถาม ในเวลา 5 นาที ท่านลองคิดว่าท่านสามารถจะใช้หวายทำอะไรได้บ้าง
คำตอบ กระบุง กระจาด ตะกร้า กล่องใส่ดินสอ กระออมเก็บน้ำ เตียงนอน ตู้ โซฟา โต๊ะเครื่องแป้ง เก้าอี้นอนเล่น ตะกร้อ ชะลอม กรอบรูป กิ๊บติดผม ด้ามไม้เทนนิส ด้ามไม้แบดมินตัน
นำคำตอบดังกล่าวมาจัดเป็นประเภทก็จะจัดได้ 5 ประเภทดังนี้
ประเภทที่ 1 เฟอร์นิเจอร์ คือ เตียงนอน ตู้ โต๊ะเครื่องแป้ง เก้าอี้นอนเล่น โซฟา
ประเภทที่ 2 เครื่องใช้ คือ กระบุง กระจาด ตะกร้า กระออมเก็บน้ำ
ประเภทที่ 3 เครื่องกีฬา คือ ตะกร้อ ด้ามไม้เทนนิส ด้ามไม้แบดมินตัน
ประเภทที่ 4 เครื่องประดับ คือ กรอบรูป กิ๊บติดผม
ประเภทที่ 5 เครื่องเขียน คือ กล่องใส่ดินสอ
เห็นได้ว่าความคิดยืดหยุ่นเป็นตัวเสริมให้ความคิดคล่องแคล่วมีความแปลกแตกต่างออกไปหลีกเลี่ยงการซ้ำซ้อนหรือเพิ่มคุณภาพความคิดให้มากขึ้นด้วยการจัดเป็นหมวดหมู่และมีหลักเกณฑ์ยิ่งขึ้น
ความคิดคล่องแคล่ว ความคิดยืดหยุ่นเป็นความคิดพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ คือ ได้หลายหมวดหมู่ หลายประเภท ตลอดจนสามารถเตรียมทางเลือกไว้หลายๆ ทาง ความคิดยืดหยุ่นจึงเป็นความคิดเสริมคุณภาพให้ดีขึ้น
4. ความคิดละเอียดลออ (Elaboration) หมายถึง ความคิดในรายละเอียดเพื่อตกแต่งหรือขยายความคิดหลักให้ได้ความหมายสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความคิดละเอียดลออเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างผลงานที่มีความแปลกใหม่ให้สำเร็จ
กิลฟอร์ดและฮอฟเนอร์ (Guilford and Hoepfner. 1971 : 125 – 143) ศึกษาองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์เพิ่มเติม พบว่าความคิดสร้างสรรค์ต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย 8 องค์ประกอบ คือ
1. ความคิดริเริ่ม 5. ความไวต่อปัญหา
2. ความคิดคล่องตัว 6. ความสามารถในการให้นิยามใหม่
3. ความคิดยืดหยุ่น 7. ความซึมซาบ
4. ความคิดละเอียดลออ 8. ความสามารถในการทำนาย
เจลเลนและเออร์บัน (Jellen and Urban. 1986 : 141) กล่าวถึงองค์ประกอบของความคิดสร้างสรรค์ไว้ในข้อสอบ ทีซีที – ดีพี (TCT – DP) ดังนี้
1. ความคิดคล่องตัว
2. ความคิดยืดหยุ่น
3. ความคิดริเริ่ม
4. ความคิดละเอียดลออ
5. การกระทำที่แสดงถึงการเสี่ยงอันตราย
6. การผสมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่น การจัดรวมสิ่งต่างๆ ให้มีความต่อเนื่อง
7. อารมณ์ขัน
วิชัย วงศ์ใหญ่ (2523 : 7) ได้กล่าวถึงองค์ประกอบประกอบของความคิดสร้างสรรค์มีดังนี้ คือ
1. ความคิดริเริ่ม หมายถึง ความคิดที่แปลกแตกต่างจากบุคคลอื่น
2. ความว่องไวหรือความพรั่งพรู ปริมาณการคิดพรั่งพรูออกมามากกว่าบุคคลอื่น
3. ความคล่องตัว เป็นชนิดของความคิดที่ปรากฏออกมาจะแตกต่างกันออกไปโดยไม่ซ้ำกันเลย
4. ความละเอียดลออประณีต ความคิดที่แสดงออกมานั้นละเอียดลออ สามารถที่จะนำมาทำให้สมบูรณ์และประณีตต่อไปได้อย่างเต็มที่
5. การสังเคราะห์ คือ การรวบรวมสิ่งที่คิดได้มาทำให้มีความหมายและนำมาพัฒนาต่อไปให้สมบูรณ์เป็นจริงได้
สรุปได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ประกอบด้วย ความคิดคล่องแคล่ว ความคิดยืดหยุ่น ความคิดริเริ่มและความคิดละเอียดลออ โดยความคิดคล่องแคล่ว และความคิดยืดหยุ่น เป็นพื้นฐานของความคิดสร้างสรรค์ ส่วนความคิดริเริ่มนั้นทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาและความคิดละเอียดลออ ทำให้ความคิดนั้นมีรายละเอียดในการคิดมากขึ้น

1.4 กระบวนการคิดสร้างสรรค์
กระบวนการคิดสร้างสรรค์หมายถึง วิธีคิดหรอกระบวนการทำงานของสมองอย่างเป็นขั้นตอนซึ่ง ทอแรนซ์ (Torrance. 1962 : 47) กล่าวว่า กระบวนการคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดขึ้นเมื่อคนเรามุ่งคิดไปสู่จุดมุ่งหมาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ขั้น คือ
1. ขั้นเริ่มต้น เกิดจากความรู้สึกที่ต้องการหรือความไม่เพียงพอในสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้บุคคลเริ่มคิด เขาจะพยายามรวบรวมข้อเท็จจริง เรื่องราวและแนวคิดต่างๆ ที่มีอยู่เข้าด้วยกัน เพื่อหาความกระจ่างในปัญหา ในขั้นนี้ผู้คิดยังไม่ทราบว่าผลที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปในรูปใด และอาจจะใช้เวลานาน จนบางครั้งจะเกิดขึ้นโดยผู้คิดไม่รู้ตัว
2. ขั้นครุ่นคิด ต่อจากขั้นเริ่มต้น ซึ่งมีระยะหนึ่งที่ความรู้ ความคิดและเรื่องราวต่างๆ ที่รวบรวมไว้ มาผสมกลมกลืนกันเข้าเป็นรู้ร่าง ระยะนี้ผู้คิดต้องใช้ความคิดอย่างหนัก แต่บางครั้งความคิดขั้นนี้อาจหยุดชะงักไปเฉยๆ เป็นเวลานาน บางครั้งก็กลับเกิดขึ้นใหม่อีก
3. ขั้นเกิดความคิด ในระยะที่กำลังครุ่นคิดนั้นบางครั้นอาจเกิดความคิดผุดขึ้นมาทันทีทันใด ผู้คิดจะมองเห็นความสัมพันธ์ของความคิดใหม่ที่ซ้ำกับความคิดเก่าๆ ซึ่งมีผู้คิดมาแล้ว การมองเห็นความสัมพันธ์ในแนวคิดใหม่นี้จะเกิดขึ้นในทันทีทันใด ผู้คิดไม่ได้นึกฝันว่าจะเกิดขึ้นเลย
4. ขั้นปรับปรุง เมื่อเกิดความคิดใหม่แล้วผู้คิดจะขัดเกลาความคิดนั้นเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจได้ง่าย หรือต่อเติมเสริมแต่งความคิดที่เกิดขึ้นใหม่ให้รัดกุม หรือในบางกรณีในขั้นนี้อาจมีการทดลองเพื่อประเมินการแก้ปัญหาสำหรับเลือกความคิดที่สมบูรณ์ที่สุด ความคิดเหล่านี้ก่อให้เกิดการประดิษฐ์ผลงานใหม่ ทางวิทยาศาสตร์ นวนิยาย บทเพลง จิตรกรรม และการออกแบบอื่น เป็นต้น
กาเลเกอร์ (Gallagher. 1975 : 249 – 250) ได้กล่าวว่า กระบวนการของความคิดสร้างสรรค์จะเกิดความคิดหรือสิ่งใหม่ขึ้นโดยการลองผิดลองถูก โดยแบ่งเป็น 4 ขั้น คือ
1. ขั้นเตรียม เป็นขั้นเตรียมข้อมูลต่างๆ เช่นข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำหรือแนวทางที่ถูกต้อง หรือข้อระบุปัญหาหรือข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง ฯลฯ
2. ขั้นความคิดคุกรุ่นหรือระยะฟักตัว เป็นขั้นที่อยู่ในความวุ่นวายของข้อมูลต่างๆ ทั้งใหม่และเก่า ปราศจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่สามารถขมวดความคิดนั้น จึงปล่อยความคิดนั้นไว้เงียบๆ
3. ขั้นความคิดกระจ่างชัด เป็นขั้นที่ความคิดสับสนนั้นได้ผ่านการเรียบเรียงและเชื่อมโยงความสัมพันธ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้มีความกระจ่างชัดและจะมองเห็นภาพพจน์ มโนทัศน์ของความคิด
4. ขั้นทดสอบความคิดและพิสูจน์ให้เห็นจริง เป็นขั้นที่ได้รับความคิดทั้ง 3 ขั้นจากข้างต้น เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นความคิดที่เป็นจริงและถูกต้อง
จะเห็นได้ว่าแนวคิดของกระบวนการคิดสร้างสรรค์นั้นมีลำดับขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การคิด การรวบรวมข้อมูล การใช้ความคิด และสุดท้ายคือการนำไปใช้

1.5 พัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์
แมคมิลแลน (Macmillan. 1924 อ้างถึงใน อารี รังสินันท์. 2526 : 41-42) ได้แบ่งพัฒนาการทางจินตนาการของเด็กออกเป็น 3 ขั้น คือ
ขั้นที่ 1 เป็นขั้นที่เด็กเล็กๆ มีความรู้สึกเกี่ยวกับความสวยงาม ซึ่งจะเป็นทาง
นำไปสู่ความจริง
ขั้นที่ 2 เป็นระยะที่เด็กเริ่มเข้าใจถึงความเป็นจริง เด็กจะเริ่มมีคำถามถึงเหตุและผลด้วยการถามว่า “ทำไม”
ขั้นที่ 3 เป็นขั้นที่เด็กเริ่มเข้าใจทีละน้อยๆ ในสิ่งที่เด็กพบเห็นในโลกแห่งความจริง
ทอแรนซ์ (Torrance. 1964) ได้กล่าวถึงพัฒนาการทางความคิดสร้างสรรค์โดยอาศัยผลการวิจัยของลิกอน (1957) ไว้ดังนี้
ในระยะขวบแรกของชีวิต (ระยะแรกเกิด – 2 ขวบ) เด็กเริ่มพัฒนาการด้านจินตนาการ จะเห็นได้ว่าเด็กเริ่มถามชื่อของสิ่งต่างๆ ทำเสียง หรือจังหวะ เด็กเริ่มคาดหวังเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เด็กอายุ 2 ขวบ จะเริ่มทำสิ่งที่แปลกใหม่ไปกว่าเดิม โดยมีความกระตือรือร้นที่จะลงมือกระทำ คิดที่จะสำรวจสิ่งต่างๆ มากขึ้นด้วยการชิมรส ดมกลิ่น และสัมผัสด้วยความอยากรู้อยากเห็น ดังนั้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กได้สำรวจโดยการจัดสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีที่ว่าง มีวัสดุที่เอื้ออำนวยต่อการคิดและการเล่น ซึ่งจะสามารถช่วยให้เด็กพัฒนาความคิดจินตนาการได้ดี
เด็กอายุ 2 – 4 ขวบ เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากประสบการณ์โดยตรงแล้วจะถ่ายทอดประสบการณ์ที่รับรู้โดยวิธีการแสดงออกและจินตนาการ เช่น เด็กไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ให้เล่นน้ำร้อน เมื่อเด็กได้มีโอกาสจับต้องน้ำร้อนเด็กก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่เล่นไม่ได้ เด็กในระยะนี้จะตื่นเต้นกับประสบการณ์ต่างๆ ได้ง่าย มีช่วงความสนใจสั้น เด็กจะเริ่มรู้สึกเป็นตัวของตัวเองและเกิดความเชื่อมั่น แต่การเรียนรู้ใหม่ๆ อาจทะให้เด็กเกิดความหวาดกลัว ดังนั้น พ่อแม่ควรระมัดระวังให้เด็กอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยอยู่เสมอ
ในวัย 4 – 6 ขวบ เป็นวัยที่เด็กมีจินตนาการสูง แต่เด็กยังไม่มีความสามารถในการสังเกตเนื่องด้วยความจำกัดของจินตนาการ เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้การวางแผนจะเริ่มสนุกกับการวางแผน และการคาดคะเนในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเล่นนั้น เด็กเริ่มเลียนแบบบทบาทของผู้ใหญ่หรือผู้ใกล้ชิด มีความอยากรู้อยากเห็น เด็กจะพยายามค้นหาข้อเท็จจริงว่าผิดหรือถูก ในวัยนี้เด็กเริ่มตระหนักถึงความรู้สึกของผู้อื่นและเริ่มคิดถึงการกระทำของตนที่ไปกระทบผู้อื่น ความเชื่อมั่นจะพัฒนาในระยะนี้โดยงานศิลปะในทางสร้างสรรค์ จากประสบการณ์ใหม่ๆ และการเล่นทายคำพูด ในระยะนี้ไม่ควรประเมินเด็กโดยใช้มาตรฐานของเด็กวัยที่สูงกว่า เด็กจะต้องได้รับความช่วยเหลือในการเล่นเพื่อฝึกด้านจินตนาการ ซึ่งครู พ่อ แม่ ควรจะอนุญาตให้เด็กวัยนี้ได้แสดงออกทางความคิด โดยวิธีการส่งเสริมและชมเชย
จะเห็นได้ว่าความคิดสร้างสรรค์ของบุคคลมีพัฒนาการไปตามลำดับขั้น และเด็กจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้จากการเรียนรู้ควบคู่ไปกับอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อเด็กเข้าสู่วัย 4 – 6 ขวบ ความเชื่อมั่นจะได้รับการพัฒนา และเด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์สูงที่สุด ถ้าเด็กได้รับการกระตุ้นและสนับสนุนด้วยการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับเด็ก

1.6 ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
ทฤษฎีที่ใช้เป็นแนวคิดในการศึกษาความคิดสร้างสรรค์ครั้งนี้คือ ทฤษฎีโครงสร้างทางสติปัญญา (Structure of Intellect Model) ของกิลฟอร์ด (Guilford. 1967 : 60 – 64) ได้อธิบายความสามารถทางสมองของมนุษย์เป็น 3 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 เนื้อหา (Content) หมายถึงข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่เป็นสื่อในการคิด ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ
1. ภาพ (Figural) หมายถึงข้อมูลหรือสิ่งเร้าที่เป็นสื่อในการคิด
2. สัญลักษณ์ (Symbolic) หมายถึงข้อมูลที่อยู่ในรูปของเครื่องหมายต่างๆ เช่น ตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์ต่างๆ
3. ภาษา (Semantic) หมายถึงข้อมูลที่อยู่ในรูปถ้อยคำที่มีความหมายต่างๆ แต่บางอย่างไม่อยู่ในรูปถ้อยคำก็มี เช่น ภาษาใบ้
4. พฤติกรรม (Behavioral) หมายถึงข้อมูลที่เป็นการแสดงออกของกิริยาอาการของมนุษย์ รวมทั้งทัศนคติ การรับรู้ การคิด
มิติที่ 2 วิธีการคิด (Operation) เป็นมิติที่แสดงลักษณะการทำงานของสมองในลักษณะต่างๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะ คือ
1. การรู้จักและเข้าใจ (Cognition) หมายถึงความสามารถทางสมองของบุคคลที่รู้จักและมีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ได้ทันทีทันใด
2. การจำ (Memory) หมายถึงความสามารถทางสมองของบุคคลที่จะเก็บสะสมรวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้ แล้วสามารถระลึกออกมาในรูปเดิมได้ตามที่ต้องการ
3. การคิดแบบอเนกนัย (Divergent Thinkink) หมายถึงความสามารถทางสมองของบุคคลที่สามารถคิดได้หลายแง่หลายมุมหลายทิศทาง คิดหาคำตอบได้โดยไม่จำกัดจำนวนจากสิ่งเร้าที่กำหนดในเวลาจำกัด
4. การคิดแบบเอกนัย (Convergent Thinkink) หมายถึงความสามารถทางสมองของบุคคลที่สามารถสรุปข้อมูลที่ดีที่สุดจากข้อมูลที่กำหนดให้และการสรุปเป็นคำตอบนั้นจะเน้นเพียงคำตอบเดียว
5. การประเมินค่า (Evaluation) หมายถึงความสามารถของบุคคลที่สามารถหาเกณฑ์ที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับความดี ความงาม ความเหมาะสมจากข้อมูลที่กำหนดให้
มิติที่ 3 ผลของการคิด (Product) เป็นมิติที่แสดงถึงผลที่ได้จากการทำงานของสมอง เมื่อสมองได้รับข้อมูลจากมิติที่ 1 และใช้ความสามารถในการตอบสนองสิ่งเร้า ซึ่งเป็นวิธีการคิดตามมิติที่ 2 ผลที่ออกมาจะเป็นมิติที่ 3 ซึ้งแบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ
1. หน่วย (Units) หมายถึงส่วนย่อยๆ ที่ถูกแยกออกมามีคุณสมบัติเฉพาะของตนเองที่แตกต่างไปจากสิ่งอื่นๆ เช่น หมา แมว นก หนู เป็นต้น
2. จำพวก (Classes) หมายถึงกลุ่มของสิ่งที่มีคุณสมบัติบางประการร่วมกัน เช่น สุนัข คน ปลาวาฬ เป็นจำพวกเดียวกันเพราะต่างก็เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกัน
3. ความสัมพันธ์ (Relations) หมายถึงผลของการเชื่อมโยงความคิดแบบต่างๆ ตั้งแต่ 2 พวกเข้าด้วยกัน โดยอาศัยลักษณะบางประการเป็นเกณฑ์ อาจอยู่ในรูปของหน่วยกับหน่วย จำพวกกับจำพวก ระบบกับระบบ เช่น พระกับวัด นกกับรัง เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับที่อยู่อาศัย
4. ระบบ (Systems) หมายถึงการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของผลที่ได้หลายๆ คู่เข้าด้วยกันอย่างมีระบบ เช่น 2, 4, 6, 8 ซึ่งเป็นระบบเลขคู่
5. การแปลงรูป (Transformations) หมายถึงการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการให้คำนิยามใหม่ การตีความ การขยายความ หรือการจัดองค์ประกอบของข้อมูลที่กำหนดให้เสียใหม่เพื่อนำไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น
6. การประยุกต์ (Implications) หมายถึง การคาดหวังหรือทำนายเรื่องบางอย่างจากข้อมูลที่กำหนดให้ เกิดความแตกต่างไปจากเดิม เช่น เมื่อเห็น Ë ก็คาดว่าเป็นสัญลักษณ์ของสภากาชาด
สรุปได้ว่า ทฤษฎีโครงสร้างทางสติปัญหาของกิลฟอร์ดนี้ นับว่าเป็นพื้นฐานในการศึกษาความคิดสร้างสรรค์ เพราะกิลฟอร์ดเชื่อว่าลักษณะความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นการคิดแบบอเนกนัย คือความคิดหลายทิศทาง หลายแง่ หลายมุม คิดได้กว้างไกล ซึ่งเป็นลักษณะการคิดที่จะนำไปสู่การประดิษฐ์สิ่งที่แปลกใหม่

1.7 ลักษณะของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์
ลักษณะของบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีรายละเอียด ดังนี้
แมคคินสัน (Mackinson. 1959 : 154) ได้ศึกษาคุณลักษณะของผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ พบว่า ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเป็นผู้ที่มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีสมาธิ มีความพยายามสามารถพินิจพิเคราะห์ความคิดอย่างถี่ถ้วนในการแก้ปัญหา นอกจากนี้ยังมีลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นผู้เปิดรับประสบการณ์ต่างๆ ชอบแสดงออกมากกว่าเก็บกด
ทอแรนซ์ (Torrance. 1962 : 81 – 82) ได้ศึกษาบุคลิกภาพของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง พบว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงเป็นคนที่มีความคิดแปลกไปจากบุคคลอื่น มีผลงานไม่ซ้ำแบบใคร
โล แวนฟิลด์ (Lowenfield. 1952) กล่าวว่า บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์จะทำอะไรแตกต่างไปจากคนอื่น ไม่ชอบการทำงานที่ซ้ำซาก ไม่ชอบทำงานตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ตายตัว แต่ชอบทำงานตามสบายและยิ่งไปกว่านั้นคนที่ชอบสร้างสรรค์จะไม่ชอบทำงานชิ้นเดียวกับคนอื่น เพราะงานที่บุคคลเหล่านี้ทำเป็นงานที่ต้องแก้ปัญหาโดยตนเองตามลำพัง
เรนวอเทอร์ (Rainwater. 1965 : 6753-A) ได้ศึกษาเปรียบเทียบบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงว่าจะมีความสามารถในการแก้ปัญหาได้ดีกว่าบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่ำหรือไม่ ผลการศึกษาพบว่า บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง สามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่าบุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ต่ำ
ลินด์เกรน (Lindgrain. 1966 : 249 อ้างถึงใน อารี พันธ์มณี. 2546 : 165) กล่าวว่า บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ว่าศิลปินหรือนักวิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ที่มีอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเองมากที่สุด ช่างสงสัยและไม่ชอบถูกบังคับ
ฮิลการ์ดและแอทคินสัน (Hilgard and Atkinson. 1967 : 365) กล่าวว่า ผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์เป็นผู้ที่มีความคิดอิสระไม่ชอบแบบใคร ชอบคิดหรือทำสิ่งที่ซับซ้อนแปลกใหม่และมีอารมณ์ขัน
ครอพเลย์ (Cropley. 1970 : 124) กล่าวว่าผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์จะประกอบด้วย 4 ประการ ดังนี้ คือ ประสบการณ์ที่กว้างขวาง (Procession of Wide Categories) เต็มใจและพร้อมที่จะเสี่ยง (Willingness to take Risks) เต็มใจและพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้า (Willingness to go ahead) และมีความสามารถที่จะยืดหยุ่นความคิดได้อย่างคล่องแคล่วในระดับสูง
ไรซ์ (Rice. 1970 : 69) กล่าวถึงลักษณะคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ว่า มีลักษณะดังนี้
1. เป็นคนมีไหวพริบ
2. มีความสามารถในการประยุกต์ มีการตอบสนองที่แสดงออกถึงความคิดริเริ่ม
มีความยืดหยุ่น
3. มีอิสระในการคิดและแสดงออก
4. สนใจที่จะมีประสบการณ์ต่างๆ และสังเคราะห์สิ่งที่ได้พบเห็นรวมกับ
ความรู้สึกภายในใจ
5. มีความสามารถในการรับรู้
6. มีความรู้เกี่ยวกับทฤษฎีและเข้าใจในคุณค่าของความงาม
7. รู้จักตนเอง เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายของสิ่งต่างๆ
8. เข้าใจในสภาพของตน กระบวนการที่ตนมีส่วนร่วม
อารี พันธ์มณี (2543 : 72) สรุปลักษณะของผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ดังนี้
1. อยากรู้อยากเห็น มีความกระหายใคร่รู้อยู่เป็นนิจ
2. ชอบเสาะแสวงหา สำรวจ ศึกษาค้นคว้าและทดลอง
3. ชอบซักถามและถามคำถามแปลกๆ
4. ช่างสงสัย เป็นเด็กที่มีความรู้สึกแปลกประหลาดใจในสิ่งที่พบ
5. ช่างสังเกต มองเห็นลักษณะที่แปลกผิดปกติ หรือช่องว่างที่ขาดหายไปได้ง่าย
และรวดเร็ว
6. ชอบแสดงออกมากกว่าจะเก็บกด ถ้าสงสัยสิ่งใดจะถามหรือพยายามหา
คำตอบโดยไม่รั้งรอ
7. อารมณ์ขัน มองสิ่งต่างๆ ในแง่มุมที่แปลก และสร้างอารมณ์ขันอยู่เสมอ
8. สมาธิดีในสิ่งที่ตนสนใจ
9. สนุกสนานกับการใช้ความคิด
10. สนใจสิ่งต่างๆ อย่างกว้างขวาง
11. มีความเป็นตัวของตัวเอง
สรุปได้ว่า บุคคลที่มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่มีความคิดอิสระไม่ชอบแบบใคร ชอบคิดหรือทำสิ่งที่ซับซ้อนแปลกใหม่และมีอารมณ์ขัน มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา มีสมาธิ มีความพยายามสามารถพินิจพิเคราะห์ความคิดอย่างถี่ถ้วนในการแก้ปัญหา

1.8 แนวทางในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
ทอแรนซ์ (Torrance. 1979) ได้เสนอหลักในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ไว้หลายประการ โดยเน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน ดังนี้
1. การส่งเสริมให้เด็กถามและให้ความสนใจต่อคำถามที่แปลกๆ ของเด็กและเขายังเน้นว่า พ่อแม่หรือครูไม่ควรมุ่งที่คำตอบที่ถูกแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในการแก้ปัญหาแม้เด็กจะใช้วิธีเดาหรือเสี่ยงบ้างก็ควรยอม แต่ควรกระตุ้นให้เด็กได้วิเคราะห์ค้นหาเพื่อพิสูจน์การเดาโดยใช้การสังเกตและประสบการณ์ของเด็กเอง
2. ตั้งใจฟังและเอาใจใส่ต่อความคิดแปลกๆ ของเด็กด้วยใจเป็นกลางเมื่อเด็กแสดงความคิดเห็นในเรื่องใด แม้จะเป็นความคิดที่ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน ผู้ใหญ่ก็อย่าเพิ่งตัดสินและลิดรอนความคิดนั้น แต่รับฟังไว้ก่อน
3. กระตือรือร้นต่อคำถามที่แปลกๆ ของเด็กด้วยการตอบคำถามอย่างมีชีวิตชีวา หรือชี้แนะให้เด็กหาคำตอบจากแหล่งต่างๆ ด้วยตนเอง
4. แสดงให้เด็กเห็นว่าความคิดของเด็กนั้นมีคุณค่าและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น จากภาพที่เด็กวาด อาจนำไปเป็นลวดลายถ้วยชาม เป็นภาพปฏิทิน บัตร ส.ค.ส. เป็นต้น ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจ และมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ต่อไป
5. กระตุ้นและส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง ควรให้โอกาสและเตรียมการให้เด็กเรียนรู้ด้วยตนเอง และยกย่องเด็กที่มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูอาจจะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ ลดการอธิบายและบรรยายลงบ้าง แต่เพิ่มการให้นักเรียนมีส่วนริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเองมากขึ้น
6. เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้ ค้นคว้าอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ โดยไม่ต้องใช้วิธีขู่ด้วยคะแนน หรือการสอบ การตรวจสอบ เป็นต้น
7. พึงระลึกว่า การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในเด็กต้องใช้เวลาพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป
8. ส่งเสริมให้เด็กใช้จินตนาการของตนเอง และยกย่องชมเชย เมื่อเด็กมีจินตนาการที่แปลกและมีคุณค่า
บลอนด์และคลอสไมเออ (Blaunt and Klausmier : 1965 อ้างถึงใน อารี พันธ์มณี. 2546 : 167-168) เสนอวิธีส่งเสริมให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ ดังนี้
1. สนับสนุนและกระตุ้นการแสดงความคิดหลายๆ ด้าน ตลอดจนการแสดงออกทางอารมณ์
2. เน้นสถานการณ์ที่ส่งเสริมความสามารถอันจะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ เช่น ความคิดริเริ่ม เป็นต้น ตลอดจนไม่จำกัดการแสดงออกของนักเรียนให้เป็นไปในรูปเดียวกันตลอด
3. อย่าพยายามหล่อหลอมหรือกำหนดแบบให้เด็กนักเรียนมีความคิดและมีบุคลิกภาพเหมือนกันไปหมดทุกคน แต่ควรสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตที่แปลกๆ ใหม่ๆ ตลอดจนความคิดและวิธีการที่แปลกๆ ใหม่ๆ ด้วย
4. อย่าเข้างวดกวดขันหรือยึดมั่นอยู่กับจารีตประเพณี ซึ่งยอมรับการกระทำหรือผลงานอยู่เพียง 1 2 หรือ 3 อย่างเท่านั้น สิ่งใดสิ่งอื่นนอกเหนือจากแบบแผนเป็นสิ่งผิดไปเสียหมด
5. อย่าสนับสนุนหรือให้รางวัลแต่เฉพาะผลงานหรือการกระทำ ซึ่งมีผู้ทดลองทำเป็นที่นิยมทำกันแล้ว ผลงานแปลกๆ ใหม่ๆ ก็จะได้มีโอกาสได้รับรางวัลหรือคำชมเชยด้วย
ฮอลล์แมน (Hallman. 1971 : 220 – 224) ให้ข้อเสนอแนะสำหรับครู สรุปได้ดังนี้
1. ให้นักเรียนมีโอกาสเรียนรู้ด้วยความริเริ่มของตนเอง จะเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนอยากค้นพบและอยากทดลอง
2. จัดบรรยากาศในการเรียนรู้แบบเสรีให้นักเรียนมีอิสระในการคิดและการแสดงออกตามความสนใจและความสามารถของเขา ครูไม่ต้องทำตัวเป็นเผด็จการทางความคิด
3. สนับสนุนให้นักเรียนเรียนรู้เพิ่มมากขึ้นด้วยตนเอง
4. ยั่วยุให้นักเรียนคิดหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลในรูปแบบที่แปลกใหม่จากเดิม ส่งเสริมความคิดจินตนาการ ส่งเสริมให้คิดวิธีแก้ปัญหาแปลกๆ ใหม่ๆ
5. ไม่เข้มงวดกับผลงานหรือคำตอบที่ได้จากการค้นพบของนักเรียน ครูต้องยอมรับว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้
6. ยั่วยุให้นักเรียนคิดหาวิธีการหาคำตอบหรือแก้ปัญหาหลายๆ วิธี
7. สนับสนุนให้นักเรียนรู้จักประเมินผลสัมฤทธิ์และความก้าวหน้าของตนด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบและรู้จักประเมินตนเอง พยายามหลีกเลี่ยงการใช้เกณฑ์มาตรฐาน
8. ส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ไวต่อการรับรู้ในสิ่งเร้า
9. ส่งเสริมให้นักเรียนตอบคำถามประเภทปลายเปิดที่มีความหมายและไม่มีคำตอบที่เป็นความจริงแน่นอนตายตัว
10. เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เตรียมความคิดและเครื่องมือในการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
เลิศ อานันทนะ (2533 : 83 - 84) ได้กล่าวถึงการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ไว้ว่า เด็กทุกมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ถ้าได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้อง และสามารถแสดงออกได้อย่างอิสระ โดยผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัวเด็กแต่ละคน ดังนั้น ครู พ่อ แม่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กจึงควรเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ ทดลอง ค้นคว้าเกี่ยวกับกิจกรรมที่เด็กสนใจ
สรุปได้ว่า การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กนั้น ครู พ่อ แม่ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก มีส่วนช่วยในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กโดยการเปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจ ทดลอง ค้นคว้าเกี่ยวกับกิจกรรมที่เด็กสนใจ

1.9 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์
งานวิจัยในต่างประเทศ
เบล (Bell. 1984 : 2752) ได้ศึกษาการเล่าเรื่องของเด็กอายุ 6 – 7 ปี โดยจับคู่ระหว่างสติปัญญากับความคิดสร้างสรรค์ ผลการศึกษาพบว่าการเรียบเรียงเรื่องราวที่เล่าและการจินตนาการเรื่องราวมีความสัมพันธ์กับระดับสติปัญญาแลความคิดสร้างสรรค์
ไคลก์แลนด์ (Kiaklann. 1978 : 2350 - a) ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของความคิดสร้างสรรค์กับความสามารถในการใช้ภาษาของเด็กอายุ 4 ปี โดยให้เด็กได้รับการทดสอบความคิดสร้างสรรค์ด้วยแบบทดสอบของทอแรนซ์ เพื่อจัดระดับความคิดสร้างสรรค์ และได้รับการบันทึกเสียงพูดประกอบการจดบันทึก เพื่อจัดระดับความสามารถในการใช้ภาษาของเด็ก แล้วนำไปหาความสัมพันธ์ ผลการศึกษาพบว่า ระดับความสามารถทางการใช้ภาษามีความสัมพันธ์กับความคิดสร้างสรรค์
ฮัทท์ (Hutt. n. d. อ้างถึงใน ประมวล คิกคินสัน. 2523 : 181) ได้ทำการวิจัยกับเด็กอายุ 3 – 5 ปี ที่มีโอกาสเล่นของเล่นที่ต้องใช้ความคิดประดิษฐ์ และรู้จักสำรวจ จากนั้นอีก 4 ปี เมื่อทำการทดสอบบุคลิกภาพและความคิดสร้างสรรค์ ปรากฏว่าเด็กที่เคยเล่นกับของเล่นที่ต้องใช้ความคิดทำคะแนนได้สูงกว่าเด็กที่ไม่เคยเล่น
งานวิจัยในประเทศ
เพียงจิต โรจน์ศุภรัตน์ (2531 : 78 - 82) ได้ศึกษาเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ระหว่างเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมวาดรูปเป็นกลุ่มกับเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมวาดรูปเป็นรายบุคคล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ นักเรียนชั้นเด็กเล็ก อายุ 5 – 6 ปี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2531 โรงเรียนบ้านดอน (ศรีเสริม กสิกร) อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดน่าน จำนวน 1 ห้องเรียน นักเรียน 30 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยใช้วิธีจับคู่คะแนน กลุ่มทดลองได้รับการจัดกิจกรรมวาดรูปเป็นกลุ่ม กลุ่มควบคุมได้รับการจัดกิจกรรมวาดรูปเป็นรายบุคคล ระยะเวลาศึกษา 10 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน ผลการศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมวาดรูปเป็นลุ่มมีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมวาดรูปเป็นรายบุคคล
อนงค์ แสงเงิน (2533 : 58 - 61) ได้ศึกษาเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นสรรค์สร้างประกอบการใช้คำถามและการเล่นสรรค์สร้างแบบไม่ใช้คำถาม กลุ่มตัวอย่าสงที่ศึกษา คือ เด็กปฐมวัยที่มีอายุ 5 – 6 ปี ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 จำนวน 44 คน ผลการศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นสรรค์สร้างประกอบการใช้คำถามมีความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้น และแตกต่างจากเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์การเล่นสรรค์สร้างแบบไม่ใช้คำถามอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
นิรัตน์ กรองสะอาด (2535 : 65 - 73) ได้ศึกษาการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะที่เน้นเทคนิคการสื่อความหมายและการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะตามแผนการจัดประสบการณ์ระดับก่อนประถมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ เด็กปฐมวัยอายุระหว่าง 5 – 6 ปี กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาล 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2535 โรงเรียนอนุบาลนครสวรรค์ จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียน 30 คน ผลการศึกษาพบว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะที่เน้นเทคนิคการสื่อความหมายมีความคิดสร้างสรรค์สูงขึ้นและแตกต่างจากเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะตามแผนการจัดประสบการณ์ระดับก่อนประถมศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
ธูปทอง ศรีทองท้วม (2538 : 72 - 80) ได้ศึกษาเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะโดยใช้กิจกรรมทักษะดนตรี และการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะแบบปกติ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา คือ เด็กปฐมวัยที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นอนุบาล 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2538 โรงเรียนอนุบาลหนองคาย จำนวน 2 ห้องเรียน มีนักเรียน 60 คน ผลการศึกษาพบว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะโดยใช้กิจกรรมทักษะดนตรีมีความคิดสร้างสรรค์แตกต่างจากเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะแบบปกติ

2. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุนทรียภาพ
2.1 ความหมายของสุนทรียภาพ
มีนักวิชาการได้ให้ความหมายของสุนทรียภาพไว้ ดังนี้
บุษบง ตันติวงศ์และคณะ (2549 : 1) ได้อธิบายความหมายไว้ว่า สุนทรียะหรือสุนทรียภาพ (Aesthetic) หมายถึงความซาบซึ้งในคุณค่าของความงามทั้งจากธรรมชาติและงานศิลปะ ความซาบซึ้งนี้เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ของมนุษย์ และจะเจริญขึ้นได้ด้วยประสบการณ์ การศึกษาอบรม จนเกิดเป็นรสนิยม ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
ด้วยความเชื่อที่ว่าความงามในโลกนี้มีธรรมชาติเป็นตัวแบบ ศิลปะจึงเป็นการเลียนแบบธรรมชาติ ดังนั้นความงามอยู่นอกตัวมนุษย์ จิตใจของมนุษย์ไม่ได้ทำให้วัตถุนั้นมีความงาม ความงามนี้จึงมีลักษณะเป็นวัตถุวิสัย ศิลปะเป็นการนำเสนอสภาพความจริงตามธรรมชาติ ศิลปินมีหน้าที่นำเสนอธรรมชาติให้ผู้อื่นชื่นชมโดยไม่ได้เสนอตัวแปรส่วนบุคคล จนทำลายความงามของตัวแบบ
ด้วยความเชื่อที่ว่าความงามเป็นเรื่องของความรู้สึกของบุคคลในการตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว ความงามนี้จึงมีลักษณะเป็นจิตวิสัย ศิลปะคือการแสดงออก ธรรมชาติคือสิ่งดลใจให้ศิลปินเสนอตัวแปรส่วนบุคคล อันเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ให้ผู้อื่นชื่นชม
วิรุณ ตั้งเจริญ (2546 : 28) ได้ให้ความหมายของสุนทรียภาพไว้ว่า สุนทรียภาพอาจเป็นความงามของศิลปกรรม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งความประณีตงดงามของจิตใจ ความประณีตงดงามของการใช้ชีวิตส่วนตัวและส่วนรวม ศิลปกรรมในที่นี้ หมายความรวมถึงทัศนศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง สถาปัตยกรรม วรรณกรรม
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2525 : 814) ให้ความหมายของคำว่า “สุนทรียภาพ” ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความนิยมความงาม แนวคิดในเรื่องของความงามนั้นนักปราชญ์ได้แบ่งไว้ 3 แนวความคิด คือ
1. เชื่อว่าความงามนั้นขึ้นอยู่กับจิตใจ หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ความงามนั้นขึ้นอยู่กับมนุษย์ ถ้าไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีความงาม ทั้งนี้ก็เพราะว่า มนุษย์เป็นผู้กำหนดหรือให้คุณค่าแก่สิ่งที่ว่าความงาม เมื่อมนุษย์มองเห็นหรือได้ยินเสียงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มนุษย์ก็จะเป็นผู้ตัดสินว่าที่ได้เห็นหรือสิ่งที่ได้ยินนั้น มีความงามหรือไม่ มีความไพเราะหรือไม่
2. เชื่อว่าความงามเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ หรือในตัวของวัตถุต่างๆ ความงามไม่ได้ขึ้นอยู่กับมนุษย์ ถึงโลกนี้จะไม่มีมนุษย์ความงามนั้นก็มีอยู่แล้ว ความงามในแง่นี้เชื่อกันว่ามีแบบมีแผนของความงามอยู่ในวัตถุ หรือธรรมชาตินั้นๆ คนจึงมีหน้าที่ค้นหาแบบแผนหรือความงามนั้นให้พบ แล้วจึงแสดงผลของการค้นพบและสดงออกมาให้ปรากฏ นั่นคือ งานศิลปะ เช่น ดอกไม้ ภูเขา น้ำตก ทะเล ล้วนมีแบบแผนของความงามอยู่แล้วในตัวเอง มนุษย์มีหน้าที่ค้นหาและจึงลอกเลียนแบบของความงามที่มีอยู่นั้นออกมาเท่านั้น
3. เชื่อว่าความงามนั้นขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือวัตถุใดๆ ที่มนุษย์สามารถมองเห็น พูดง่ายๆ ว่าขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกที่มนุษย์มีอยู่กับธรรมชาติ หรือวัตถุนั้นๆ นั่นเอง มนุษย์จึงจำเป็นต้องมีการฝึกฝนจิตใจของเขาให้เข้าถึงความงาม ทั้งนี้เพื่อจะได้ยกระดับของจิตใจหรือรสนิยมของตนเองให้สูงขึ้น เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต การฝึกฝนดังกล่าวต้องใช้เวลา และเรียกว่า การฝึกฝนจิตใจให้มีประสบการณ์สุนทรียะ
จะเห็นได้ว่าสุนทรียะเป็นความซาบซึ้งในความงามของธรรมชาติ และศิลปกรรม รวมถึงทัศนศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ความประณีตงดงามของจิตใจและ ความประณีตงดงามของการใช้ชีวิตส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวโดยเกิดจากการรับรู้ของบุคคล และสามารถเจริญได้ด้วยประสบการณ์ การศึกษาอบรม จนเกิดเป็นรสนิยม ที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

2.2 ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ
อารีย์ สุทธิพันธุ์ (2538 : 135 – 136) กล่าวว่าแตกต่างกับประสบการณ์อื่นๆ ตรงที่ ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพเราจัดหาให้ตัวเองได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเราแล้ว จะช่วยให้เราเกิดความเพลิดเพลินพึงพอใจ เกิดเป็นความอิ่มเอิบใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เช่น การไปเดินเล่น การไปชมนิทรรศการ ไปดูภาพยนตร์ ไปชมพูมิประเทศสัมผัสธรรมชาติ การอ่านนวนิยาย การฟังเพลง ฯลฯ ประสบการณ์ทางสุนทรียภาพเหล่านี้ เรามีความเต็มใจที่จะได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่สังคมจัดขึ้นหรือเราเลือกกิจกรรมนี้สำหรับตัวเราเอง เป็นประสบการณ์ที่บังคับกันไม่ได้ ต้องเกิดจากความต้องการหรือความอยากของตัวเราเอง
สรุปได้ว่าประสบการณ์ทางสุนทรียภาพนั้นเกิดขึ้นได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อเกิดขึ้นกับตัวเราแล้ว จะช่วยให้เราเกิดความเพลิดเพลินพึงพอใจ เกิดเป็นความอิ่มเอิบใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เป็นประสบการณ์ที่ต้องเกิดจากความต้องการหรือความอยากของตัวเราเอง

2.3 การสร้างประสบการณ์ทางสุนทรียภาพ
สุกรี เจริญสุข (2534 : 73) ได้เสนอแนะกระบวนการสร้างประสบการณ์สุนทรียะไว้อย่างน่าสนใจคือ
1. ต้องมีความตั้งใจหรือความศรัทธาต่อความงาม
2. ต้องอาศัยการรับรู้ในความงาม
3. ต้องมีความประทับใจในความงามนั้น
4. ต้องอาศัยความรู้ประกอบ
5. ต้องอาศัยความเข้าใจในวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศิลปะ เพราะศิลปะของแต่ละท้องถิ่นนั้นย่อมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับวัฒนธรรมที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย คนที่จะมีความเข้าใจ เข้าถึง หรือซาบซึ้งในวัฒนธรรมนั้นได้ดีก็เฉพาะคนในท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งนี้เพราะเขาเกิดและเติบโตมาในวัฒนธรรมนั้น ประสบการณ์สุนทรียะที่มีต่องานศิลปะทุกแขนงต้องอาศัยความเคยชินที่หล่อหลอมบุคคลนั้นๆ มาตั้งแต่ยังเล็ก
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า การสร้างประสบการณ์สุนทรียภาพนั้นต้องเริ่มต้นจากความตั้งใจไปสู่การรับรู้ในความงามว่ามีอยู่ ต้องเกิดความรู้สึกประทับใจในความงามนั้น ต้องแสวงหาความรู้มาประกอบ และต้องมีความเข้าใจในวัฒนธรรมพื้นบ้าน ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกาลเวลา การฝึกฝน และการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

2.4 สุนทรียภาพกับการทำงานของสมอง
ธรรมชาติได้สร้างมนุษย์ให้มีประสาทสัมผัสที่มีประสิทธิภาพมาก ทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น และกายสัมผัส ตามองเห็นภาพและสีสัน หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นสัมผัสรส และกายสัมผัสสิ่งต่างๆ รวมทั้งความร้อนหนาวในระดับอุณหภูมิที่แตกต่างกันไป เมื่อสัมผัสสิ่งต่างๆ เราจะเกิดความรู้สึก ความรู้สึกเป็นอารมณ์เบื้องต้น แล้วจึงเกิดการรับรู้ขึ้น รับรู้ว่าภาพอะไร กลิ่นอะไร เสียงอะไร ฯลฯ ความรู้สึกที่ได้สัมผัสก่อให้เกิดการรับรู้และการตีความ การตีความซึ่งเป็นกระบวนการของสมอง และมีประสบการณ์ อารมณ์ ความคิด แรงจูงใจ เข้ามาเกี่ยวข้อง
เมื่อฟังดนตรี เราได้ยินเสียงต่างๆ ผสมผสานกัน เรารับรู้ว่าเป็นเสียงดนตรีในระดับและลีลาของเสียงแตกต่างหลากหลาย ผสมผสานกันด้วยท่องทำนองต่างๆ เรารับรู้พร้อมกับตีความ ซึ่ง สัมพันธ์กับการเรียนรู้ แรงจูงใจ ประสบการณ์ และอารมณ์ เราเคยได้ยินเสียงดนตรี มีความชื่นชอบ รับรู้ว่าเป็นเสียงที่สอดผสานกันจากเครื่องดนตรีต่างๆ ให้ความรู้สึกเพลิดเพลินและจินตนาการไปถึงสิ่งต่างๆ ฟังเพลงของริชาร์ด วากเนอร์ ที่อาจจะจินตนาการถึงพายุที่รุนแรง ฟังเพลงเขมรไทรโยคที่จินตนาการถึงป่าเขาลำเนาไพร เป็นต้น
เราอาจแยกสุนทรียศาสตร์แบ่งออกเป็น 2 ด้านคือ สุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญา (Philosophical Aesthetics) และสุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ที่เน้นเหตุผล (Scientific Aesthetics) สุนทรียศาสตร์เชิงปรัชญาที่เน้นอารมณ์ความรู้สึก จินตนาการ สุนทรียศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์ที่เน้นเหตุผล ตรรกะ แบบแผน สองขั้วซ้ายและขวาที่ต่างกันนี้ มีดีกรีของความเชื่อ การรับรู้และการชื่นชมต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม “สุนทรียะ” ย่อมมีทั้งสองด้านผสานกัน ดนตรีที่มีตัวโน๊ตและจังหวะ กวีที่มีฉันทลักษณ์ จิตรกรรมที่มีโครงสร้างพื้นฐานภาพ การเต้นรำที่มีจังหวะการก้าว เป็นต้น
ความงามที่ผสานกันทั้งในเชิงปรัชญาและเชิงวิทยาศาสตร์ สัมพันธ์กับกระบวนการทำงานของสมอง สมองซีกซ้าย – ขวา ที่แยกภารกิจแต่ทำงานผสานกัน การรับรู้และการทำงานของสมองซีกซ้ายจะเน้นหนักไปทางเหตุผล ตัวเลข ภาษา การคาดคะเน การคำนวณ การวิเคราะห์ การวางแผน สมองซีกขวาจะเน้นไปที่ภาพ จินตนาการ อารมณ์ความรู้สึก มิติสัมพันธ์ การสังเคราะห์ ภาพรวม สมองทั้งสองซีกทำงานผสานกันด้วย คอร์พัส แคลโลซัม (Corpus Callosum) ทำให้คนเรามีเหตุผลและอารมณ์ควบคู่กันไป พร้อมทั้งมีวุฒิภาวะทางปัญญาและวุฒิภาวะทางอารมณ์ ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน (วิรุณ ตั้งเจริญ. 2546 : 33 - 35)
บุษบง ตันติวงษ์และคณะ (2549 : 2) กล่าวว่า ในช่วง 2 – 3 ทศวรรษที่ผ่านมา วงวิชาการในโลกตะวันตกได้ศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เรื่องพัฒนาการมนุษย์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับการทำงานของสมองและหัวใจซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุข เหตุผลสำคัญของการศึกษาค้นคว้าคือ เพื่ออธิบายสาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในคนทุกชนชาติ ทุกวัย อุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของเด็กออทิสติก การฆ่าตัวตายของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ได้สร้างกระแสความเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางในการปรับโครงสร้างทางปรัชญาของจิตวิทยาเด็กยุคใหม่ ในหมู่นักวิชาการทางการแพทย์ จิตวิทยา และการศึกษา
เพียร์ซ (Pearce. 2002 อ้างถึงใน บุษบง ตันติวงษ์และคณะ. 2549 : 2-5) อธิบายพัฒนาการของมนุษย์ว่ามีพื้นฐานจากากรทำงานสัมพันธ์กันของสมองและหัวใจ งานวิจัยทางการแพทย์สาขา Neurocardiology พบว่า
1. เซลประสาทในหัวใจร้อยละ 60 – 65 เป็นเซลแบบเดียวกับในสมอง ซึ่งทำหน้าที่กำกับและควบคุมกระบวนการทำงานร่วมกันของความคิดจิตใจ สมอง และร่างกาย อีกทั้งยังสั่งการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างหัวใจกับโครงสร้างทางอารมณ์และสติปัญญาในสมอง
2. มีงานวิจัยที่พบว่าหัวใจเป็นโครงสร้างสำคัญของต่อมเอนดอครีน (endocrine glandular structure) ในร่างกายซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการทำงานอย่างองค์รวมของร่างกาย สมอง และความคิดจิตใจ
3. หัวใจผลิตพลังไฟฟ้า 2.5 วัตต์ ในการเต้นของชีพจรแต่ละครั้ง ซึ่งทำให้เกิดสนามแม่เหล็กไฟฟ้าแบบเดียวกันกับสนามแม่เหล็กไฟฟ้าของโลก และระบบสุริยจักรวาล สนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่หัวใจส่งออกมานี้เป็นคลื่นวิทยุและคลื่นแสงที่มีระยะ 12 – 25 ฟุตรอบตัว ครอบคลุมแล่งข้อมูลซึ่งร่างกายและสมองเกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับโลกรอบตัว
ด้วยเหตุนี้ เพียร์ซจึงอธิบายพัฒนาการของมนุษย์ว่ามีศูนย์กลางอยู่ที่หัวใจและแบ่งลำดับขั้นพัฒนาการเป็น 3 ช่วง ดังนี้
1. ขั้นพัฒนาการทำงานประสานกันระหว่างหัวใจและความคิดจิตใจ ในระดับที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นในวัยเด็กและสามารถสังเกตได้ในขั้นพัฒนาการ ตามทฤษฎีของเพียเจต์
2. ขั้นการทำงานประสานกันระหว่างตัวตนทางกายภาพที่พัฒนาแล้วและกระบวนการสร้างสรรค์ซึ่งเกิดหลังช่วงวัยรุ่น
3. ขั้นพัฒนาการของหัวใจที่สูงสุดจะพัฒนาไปสูงกว่าระบบทั้งหมดของร่างกายและอารมณ์ทั้งหมด ซึ่งเกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ ความสำเร็จของพัฒนาการขั้นนี้อยู่ที่การสื่อสารระหว่างสมองซึ่งพัฒนาความเป็นปัจเจกบุคคลกับหัวใจที่พัฒนาปัญญาอันเป็นสากล ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล
พัฒนาการ 3 ขั้นดังกล่าวเป็นไปตามวุฒิภาวะอันสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตขององค์ประกอบสำคัญของมนุษย์ซึ่งมีด้วยกัน 3 ส่วน คือ สมอง หัวใจ และร่างกาย ที่ทำงานอย่างสอดคล้องกัน คือร่างกายแสดงการกระทำตามการสั่งงานของสมอง และหัวใจควบคุมการทำงานของสมองและทุกส่วนของร่างกายทั้งการกระทำการเรียนรู้ผ่าฮอร์โมนและพลังแม่เหล็กไฟฟ้าที่ละเอียดอ่อน
ถ้าพิจารณาเฉพาะโครงสร้างของสมอง 3 ส่วน ที่ทำงานร่วมกับหัวใจและส่วนต่างๆ ของร่างกายจะเห็นการเจริญเติบโตที่สอดคล้องกับ 3 ลำดับขั้นพัฒนาการดังกล่าวข้างต้น กล่าวคือ
1. สมองของสัตว์เลื้อยคลานหรืออาร์ซีสเทม (R - system) ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเต้นของหัวใจ การหายใจ และการดำรงชีพตามสัญชาตญาณ
2. สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสมัยเก่า หรือลิมบิคเบรน (Limbic brain) ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ การเรียนรู้ พฤติกรรม ความสุข อารมณ์ขั้นพื้นฐาน
3. สมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสมัยใหม่หรือนีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortex) ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด การเรียนรู้ สติสัมปชัญญะ และรายละเอียดที่สลับซับซ้อน
โมเดลพัฒนาการสมองของ Matti Berstrom แห่ง University of Helsinki ชี้ให้เห็นว่าการคิดหรือปัญญาของเด็กวัย 3 – 6 ปี แตกต่างจากปัญญาของผู้ใหญ่ เนื่องจากพัฒนาขึ้นระหว่างที่เติบโตภายใต้ภาวะไร้น้ำหนักในน้ำคร่ำในครรภ์มารดา ดังนั้นโดยธรรมชาติ ปัญญาของเด็กวัยนี้ไม่ถูกจำกัดโดยโลกของวัตถุแบบปัญญาของผู้ใหญ่ แต่จะมีลักษณะเป็นจินตนาการและความฝันของโลกภายใน เพราะเกิดจากการทำงานของ Brainstem ที่ส่งกระแสความคิดอย่างไร้ระเบียบ และเป็นพลวัตร ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึกสุนทรียะ การรู้คุณค่า ความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งต่างๆ เกิดจากปัญญาแบบนี้ ถ้าพิจารณาให้ดีจะพบว่าปัญญานี้เป็นปัญญาระดับสูงที่เป็นพื้นฐานของจิตที่ปล่อยวางและเบิกบาน
ส่วนปัญญาของผู้ใหญ่ซึ่งเติบโตบนพื้นโลกมานาน เป็นปัญญาที่ยึดติดกับพลังความโน้มถ่วงของโลก จนกลายเป็นปัญญาที่รับรู้วัตถุจากโลกภายนอก ผ่าน cortex ที่มีการทำงานที่เป็นระเบียบ
ในขณะที่ Brainstem ทำงานแบบไร้จิตสำนึกและ Cortex ทำงานแบบจิตสำนึก Limbic brain ที่อยู่ลึกลงไปในสมอง ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของอารมณ์ และ Neurophysiological self ซึ่งสามารถตระหนักรู้ในตนเอง Limbic brain นี้ เป็นส่วนที่สามารถช่วยให้เกิดความสมดุลของปัญญาของโลกแห่งวัตถุภายนอกและปัญญาจากโลกแห่งจิตวิญญาณภายในได้ ถ้าบุคคลนั้นมีศักยภาพและได้รับการพัฒนาที่เหมาะสม
โมเดลพัฒนาการสมองของ Matti Berstrom ยืนยันว่าการเล่นและกิจกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการเป็นสิ่งที่เหมาะกับการพัฒนาปัญญาของเด็กปฐมวัย การพยายามพัฒนาปัญญาอย่างเป็นระบบในแบบของผู้ใหญ่ในวัยนี้ จะสกัดกั้นการพัฒนา ปัญญาอย่างเป็นระบบในแบบของผู้ใหญ่ในวัยนี้ จะสกัดกั้นการพัฒนาปัญญาระดับสูงที่ต้องอาศัยทั้งความเจ้าใจวัตถุวิสัย อันเป็นหลักสัจธรรมในธรรมชาติและอารมณ์ อันเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งเมื่อเด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่

2.5 สุนทรียภาพของการเล่น
ไวกอสกี (Vygosky อ้างถึงใน บุษบง ตันติวงษ์และคณะ. 2549 : 5 - 6) กล่าวว่าสังคมวัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อการพัฒนาทางปัญญาของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์พัฒนามโนทัศน์เกี่ยวกับโลกผ่านกระบวนการในการสร้างและการทำซ้ำ การที่เราจะจดจำและแสดงพฤติกรรมซ้ำๆ เป็นการก่อรูปและการปรับแต่งมโนทัศน์ของตนเอง กล่าวได้ว่ามนุษย์มีพื้นฐานของการเป็นผู้สร้าง เนื่องจากเป็นผู้สร้างความรู้เกี่ยวกับโลกเอง สิ่งแวดล้อมรอบตัวนั้นเกี่ยวข้องกับศิลปะ สังคม และวัฒนธรรม โดยที่ความตระหนักรู้เป็นหัวใจและเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาปัจเจก สำหรับเด็กแล้วการเล่นเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กเกิดการตระหนักรู้ต่อโลก การเล่นนั้นประมวลอารมณ์ ความคิด และการกระทำเข้าไว้ด้วยกัน ไวกอสกีกล่าวอีกว่า ศิลปวัฒนธรรมนั้นสะท้อนให้เห็นในโครงสร้างของจิตสำนึกของผู้คน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันโดยตรงกับสุนทรียภาพทางศิลปะ
การเล่นของเด็ก เป็นกระบวนการของการตีความอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเกิดจากการพบกันระหว่างตัวตนภายในของเด็กกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้เด็กถ่ายทอดจินตนาการออกมาเป็นการกระทำ กล่าวได้ว่า การเล่นสะท้อนสุนทรียภาพของจิตสำนึกของเด็ก
ไวกอสกี มองว่าศิลปะช่วยพัฒนาความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ และทำให้มนุษย์เกิดการพัฒนาตัวตนภายในให้สูงขึ้น สุนทรียศาสตร์รูปแบบต่างๆ มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของมนุษย์ ทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกที่แตกต่างออกไปจากอารมณ์ปกติในแต่ละวัน กล่าวคือสุนทรียะทางอารมณ์ทำให้เกิดการกระทำที่ช้าลงและสร้างให้เกิดแรงบันดาลใจในการตีความและถ่ายทอดประสบการณ์ออกมา การเดินสวนสนามของทหารทำให้เกิดเพียงจังหวะของการก้าวเดิน แต่เพลงโซนาตาของบีโธเฟนมีความซับซ้อนมากกว่า สามารถสร้างให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่แตกต่างไป ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีพลังและสามารถตีความได้มากกว่า ขณะที่เราตีความเป็นการทำให้ความรู้สึกอยู่ในระดับของการตระหนักรู้ เนื่องด้วยศิลปะแฝงไปด้วยความรู้ทางสังคมในรูปสัญลักษณ์ซึ่งมีหลากหลายความหมาย ดังนั้นไม่ว่าเรากำลังสร้างสรรค์หรือตีความงามศิลปะ ขณะนั้นเป็นการทำงานในพื้นที่ของความเป็นบุคคลและสังคม
เด็กเล่นเพื่อตอบสนองความต้องการและแรงจูงใจภายในตน ต่างจากทัศนะที่มองว่าเด็กเล่นเพราะความสนุกและต้องการเผาผลาญพลังงานส่วนที่เกินออกไป การเล่นคือ จินตนาการ เป็นความจริงของภาพมายาของความต้องการที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งต่างจากชีวิตประจำวันที่เป็นความจริง การเล่นเป็นตัวแทนของกิจกรรมทางจิตสำนึกของมนุษย์ ขณะเด็กเล่นอารมณ์และความคิดมีบทบาทต่อกันและกันในการพัฒนาจินตนาการให้สูงขึ้น จินตนาการเป็นรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้ดำรงอยู่ในจิตสำนึกของเด็กที่เล็กมาก ดังนั้น การที่เด็กได้มีโอกาสในการเล่นอย่างเหมาะสมในแต่ละวัยจะช่วยส่งเสริมจินตนาการซึ่งสร้างให้เกิดปัญญาในระดับสูงต่อไป

2.6 การพัฒนาค่านิยมด้านสุนทรียภาพในตัวบุคคล
วิรุณ ตั้งเจริญ (2546 : 113 - 114) กล่าวว่า คนเราเกิดมาพร้อมด้วยศักยภาพทางร่างกาย สมอง และจิตใจ พร้อมที่จะเรียนรู้ พร้อมที่จะคิดอย่างมีเหตุผล พร้อมที่จะจินตนาการ และพร้อมที่จะสร้างสรรค์ ด้วยศักยภาพของมนุษย์ เราจึงมีการพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ แม้จะต้องใช้เวลานานมากก็ตาม เมื่อเราเรียนรู้ คิด จินตนาการ หรือสร้างสรรค์ มิได้เป็นไปอย่างแยกส่วน เป็นการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน บูรณาการความคิดเข้าด้วยกัน
เมื่อสังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป เราแสวงหาวัตถุมากขึ้น เลยมาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรม วัตถุมีความหมายต่อการดำรงชีวิตมากขึ้น การผลิตด้วยแรงงานพัฒนาไปสู่การผลิตด้วยเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นการผลิตแบบมวลผลิตเพื่อตอบสนองปริมาณของประชากรที่ขยายตัวมากขึ้น พร้อมกันนั้น ระบบการศึกษาก็พัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมดังกล่าว มนุษย์ได้รับการสอนและพัฒนาอย่างแยกส่วน เพื่อป้อนเข้าสู่กลไกของสังคม ป้อนเข้าสู่โรงงาน ป้อนเข้าสู่ระบบธุรกิจ รู้และมีความสามารถเพียงอย่างเดียวก็สามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมได้ และอาจประสบผลสำเร็จในทางวัตถุด้วย เราแยกเหตุผลและจินตนาการ แยกสมองซีกซ้ายและขวา แยกวิทยาศาสตร์และศิลปะ แยกขาวและดำ ฯลฯ แล้วสังคมก็มีปัญหาซับซ้อนมากขึ้น มนุษย์ขาดจิตวิญญาณ มนุษย์วิทยาศาสตร์ว่างเปล่าสุนทรียภาพ มนุษย์สุนทรียภาพว่างเปล่าซึ่งความคิดเชิงวิทยาศาสตร์ สังคมมีปัญหาและมนุษย์เชิงปัจเจกภาพมีแต่ความเครียด
การพัฒนาสุนทรียภาพไม่สามารถเป็นไปได้ ถ้าภาระและบทบาทเป็นเพียงในระบบครอบครัว ระบบการศึกษา หรือเป็นเพียงภาระของปัจเจกบุคคลเท่านั้น สังคมคือร่มเงาหรือกรอบของการดำรงชีวิต กระแสสังคมมีพลังในการกระตุ้นให้สมาชิกในสังคมมีแนวโน้มไปทางใดทางหนึ่ง สังคมที่วิกฤติทางการเมือง เศรษฐกิจ และระบบการศึกษา ย่อมก่อให้เกิดวิกฤติในการดำรงชีวิตของสมาชิกในสังคม สังคมมีจริยธรรมทางการเมือง นักการเมืองเสียสละ เฉลียวฉลาดและสร้างสรรค์สังคม ระบบเศรษฐกิจที่ห่วงใยเอื้ออาทรและให้ความยุติธรรมแก่สมาชิกในสังคมทุกระดับชั้น ระบบการศึกษาที่ผลักดันสังคมให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างสรรค์วัฒนธรรม และสร้างรสนิยมให้กับสมาชิกในสังคม ถ้าเป็นเช่นนั้น ก็เป็นที่หวังได้ว่า สังคมย่อมมีพลังในการสร้างความดีงาม สามารถพัฒนาค่านิยมและรสนิยมของสมาชิกได้อย่างแท้จริง
สังคมต้องเรียนรู้ เฉลียวฉลาด และมีรสนิยม เข้าใจและสนับสนุนในสุนทรียะที่หลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง ยอมรับทั้งกระแสไทยและกระแสสากล ยอมรับทั้งเก่าและใหม่ ยอมรับทั้งความประณีตงดงามลึกซึ้งและระดับที่เรียบง่าย ฯลฯ เพื่อร่วมกันพัฒนาค่านิยมและสุนทรียภาพให้กับสมาชิกในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย

3. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและจังหวะ
3.1 ความหมายของการเคลื่อนไหวและจังหวะ
การเคลื่อนไหวและจังหวะหมายถึง การที่ร่างกายและจิตใจมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อดนตรีและจังหวะ ซึ่งจังหวะนั้นหมายถึง อัตรา ช้า เร็ว ของการเคลื่อนไหวซึ่งอาจเกิดจากการตบมือ เคาะไม้ เคาะเหล็ก ตีกลอง ฉิ่ง ฉาบ เป็นต้น (พูชิต ภูติจันทร์. 2523 : 3) นอกจากนั้นการเคลื่อนไหวและจังหวะยังเป็นกระบวนการของการสำรวจความสามารถของตนเองโดยใช้การเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อค้นพบการแก้ปัญหาต่างๆ เด็กแต่ละคนได้เข้าร่วมในการวิเคราะห์ปัญหาโดยใช้ความสามารถทางร่างกาย และความรู้ของตนเอง การได้รับการกระตุ้นจากปัญหาเพื่อให้เด็กหาคำตอบด้วยตนเอง จุดแห่งความสนใจควรอยู่ที่กิจกรรมมากกว่าสิ่งใด (สำเร็จ มณีเนตร. 2520 : 1)
ศุภศี ศรีสุคนธ์ ( 2539 : 20) ได้อธิบายว่า การเคลื่อนไหวและจังหวะหมายถึง การแสดงออกที่เกิดจากอารมณ์ ความรู้สึก หรือการเกิดจินตนาการเมื่อมีสิ่งเร้า เช่น เสียงดนตรีชนิดต่างๆ ที่มีความไพเราะหรือเร้าใจ ก็จะเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เข้ากับเสียงดนตรี เสียงเพลง และจังหวะอื่น โดยการเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ
จะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวและจังหวะเป็นการเคลื่อนไหวที่ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนต่อเสียงเพลงและดนตรี โดยใช้ร่างกายเป็นสื่อกลางในการแสดงออกของความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็กในช่วงที่มีการเคลื่อนที่

3.2 ความสำคัญของการเคลื่อนไหวและจังหวะ
การเคลื่อนไหวและจังหวะมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์โดยเฉพาะในสภาพของกาเป็นอยู่ของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยการต่อสู้ดิ้นรนควบคู่ไปกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพราะจะช่วยให้บุคคลได้ระบายออกทางความรู้สึก ผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งร่างกายและจิตใจได้ดี สามารถพัฒนาปรับตัวด้านสังคมดีขึ้น และพรอมที่จะประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีชีวิตอย่างสุขสมบูรณ์ในสังคมได้เป็นอย่างดี
การเคลื่อนไหวและจังหวะเป็นกระบวนการสำรวจความสามารถของตนเองโดยการใช้การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เข้ากับจังหวะและดนตรี เพื่อหาข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข ครูทุกคนควรตระหนักว่าเด็กควรได้รับการพัฒนาทักษะทางกลไกพร้อมๆ กับด้านอื่นๆ (พูชิต ภูติจันทร์. 2523 : 1)
วรศักดิ์ เพียรชอบ (2527 : 131 - 132) ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเคลื่อนไหว พอสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ช่วยให้เด็กเรียนรู้ในเทคนิคและวิธีการคิดค้นและแก้ปัญหาการเคลื่อนไหว หรือปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น เพราะว่าการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมให้เด็กมีประสบการณ์ด้วยการแก้ปัญหาการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยวิธีการต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจวิธีการและเทคนิคเทคนิคในการคิดค้นได้ดีด้วย
2. ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย สามารถพัฒนาความสามารถในการเคลื่อนไหวเหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะมีทักษะในการเคลื่อนไหวในแต่ละอย่างได้เป็นอย่างดี
3. ช่วยให้เด็กมีความรู้และเข้าใจในความจำกัดของความสามารถการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดีว่าส่วนต่างๆ ของร่างกายของตนนั้น ส่วนใดมีความสามารถและมีความจำกัดในการเคลื่อนไหวอย่างไร และในขณะเดียวกันก็จะได้นำความสามารถและความจำกัดเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์เหมาะสมต่อไป
4. ช่วยให้เด็กได้มีพัฒนาการในทางสร้างสรรค์ และรักษาไว้ซึ่งความสามารถในทางสร้างสรรค์นั้นๆ ทั้งนี้เพราะว่าการเรียนแบบวิธีคิดค้นการเคลื่อนไหวนั้นเป็นกิจกรรที่ให้เป็นกิจกรรมที่ให้เด็กได้แก้ปัญหาการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้มีพัฒนาการในทางสร้างสรรค์
5. ช่วยให้เด็กเข้าใจประโยชน์ของการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี สามารถนำประโยชน์ในการเคลื่อนเหล่านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันของตนเองได้
6. ช่วยให้เด็กเรียนรู้และมีความรู้สึกชอบการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยเครื่องผ่อนแรง
7. ทำให้เด็กได้เรียนและเข้าใจลักษณะและความหมายของการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เป็นอย่างดี สามารถเรียนชื่อลักษณะการเคลื่อนไหวเหล่านี้ได้ถูกต้องต่อไป
จะเห็นได้ว่า การเคลื่อนไหวและจังหวะมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการด้านต่างๆ เพราะเด็กจะได้เรียนรู้จากการเคลื่อนไหว ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการ ทำให้เด็กเกิดความคิด การแสดงออก อารมณ์ จากตัวของเด็กเองได้อย่างอิสระ

3.3 องค์ประกอบของการเคลื่อนไหวและจังหวะ
การเคลื่อนไหวและจังหวะมีบทบาทและสำคัญมากต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนจะต้องทราบว่าร่างกายของเขานั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง เขาสามารถเคลื่อนไหวร่างกายไปได้อย่างไร ไปในทิศทางใด จะต้องสัมพันธ์กับสิ่งใดหรือจะต้องใช้อุปกรณ์อะไรที่จะช่วยให้เขาสามารถเคลื่อนไหวอย่างสัมพันธ์กัน สุพิตร สมาหิโต (2533 : 4 - 5) ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับองค์ประกอบต่างๆ ที่จะเป็นรากฐานของการเคลื่อนไหว ดังนี้
1. บริเวณพื้นที่ (Space) หมายถึงสถานที่ที่เด็กต้องการในการเคลื่อนไหว ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วจะต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งต่อไปนี้
1.1 บุคคลที่อยู่รอบตัวเด็กในขณะที่เด็กมีการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น แขน ขา ลำตัว ในขณะที่เท้าอยู่กับที่
1.2 อุปกรณ์หรือวัตถุอื่นๆ ที่จะช่วยให้เด็กสามารถเคลื่อนไหวไปได้รอบๆ บริเวณพื้นที่ได้อย่างปลอดภัย
1.3 ทิศทาง (Direction) ได้แก่ การเคลื่อนไหวไปข้างหน้า การเคลื่อนไหวถอยหลัง การเคลื่อนไหวไปด้านข้าง การเคลื่อนไหวไปด้านบน การเคลื่อนไหวไปด้านล่าง การเคลื่อนไหวเป็นวงกลม การเคลื่อนไหวแบบคดเคี้ยว และการเคลื่อนไหวแบบบิดตัว เป็นต้น
1.4 ระดับของการเคลื่อนไหว ได้แก่ ระดับความสูงมาก ระดับความสูงปานกลาง และระดับต่ำ
1.5 ขนาด ได้แก่ บริเวณพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ บริเวณพื้นที่ที่มีขนาดเล็ก
2. เวลาที่ใช้ในการเคลื่อนที่ หมายถึง ระดับความช้า – เร็ว ของการเคลื่อนไหว เช่น เคลื่อนไหวอย่างช้าๆ เคลื่อนไหวในระดับความเร็วปานกลาง เคลื่อนไหวในระดับความเร็วมาก เคลื่อนไหวอย่างเรียบร้อยนิ่มนวล เป็นต้น
3. ความแรงของการเคลื่อนไหว หมายถึง ปริมาณหรือจำนวนของความแข็งแรงหรือความแข็งแกร่งที่ต้องการเพื่อการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม เช่น เบามาก หนักมาก แรงมาก ความอ่อน และความตึงตัว เป็นต้น
4. การเปลี่ยนทิศทางหรือท่าทางของการเคลื่อนไหว หมายถึง ลำดับขั้นหรือการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนของการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งไปสู่การเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่ง หรือการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งทิศทางจากสภาพการณ์หนึ่งไปสู่อีกสภาพการณ์หนึ่งนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของการเคลื่อนไหวนั้น ประกอบด้วย บริเวณพื้นที่ เวลาที่ใช้ในการเคลื่อนที่ ความแรงของการเคลื่อนไหว และการเปลี่ยนแปลงทิศทางหรือท่าทางของการเคลื่อนไหว สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่เป็นรากฐานของการเคลื่อนไหว

3.4 การจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2536 : 6) ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะไว้ ดังนี้
1. เพื่อพัฒนาอวัยวะทุกส่วนให้มีความสัมพันธ์กันอย่างดีในการเคลื่อนไหว
2. เพื่อสนองความต้องการตามธรรมชาติ ความสนใจและความพอใจของเด็ก
3. เพื่อให้เกิดความซาบซึ้งและมีสุนทรียภาพในการเคลื่อนไหวตามจังหวะ
4. เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด
5. เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ สนุกสนานรื่นเริง จากการเล่นกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะแบบต่างๆ
6. เพื่อพัฒนาด้านสังคม การปรับตัว และความร่วมมือในกลุ่ม
7. เพื่อให้โอกาสเด็กได้แสดงออกและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ในการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2536 : 10) ได้แบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ตอน ดังนี้
1. กิจกรรมพื้นฐาน เป็นกิจกรรมที่ต้องฝึกทุกครั้งก่อนที่จะทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อไป ลักษณะการจัดกิจกรรมมีจุดเน้นในเรื่องจังหวะ การเคลื่อนไหว หรือทำท่าทางอย่างอิสระ ทำให้เด็กทราบถึงข้อตกลงในเรื่องสัญญาณและจังหวะ ซึ่งครูจะใช้เครื่องให้จังหวะชนิดใดก็ได้ โดยครูต้องทำความเข้าใจกับเด็กก่อนว่า สัญญาณนั้นหมายถึงอะไร เช่น ให้จังหวะ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ แสดงว่าให้เด็กเดินหรือเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ตามจังหวะ ให้จังหวะ 2 ครั้งต่อกันแสดงว่า ให้เด็กหยุดการเคลื่อนไหว โดยเด็กจะต้องหยุดนิ่งจริงๆ หากกำลังอยู่ในท่าใดก็ต้องหยุดนิ่งในท่านั้นจะเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนท่าไม่ได้
2. กิจกรรมสัมพันธ์เนื้อหา เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกาย โดยเน้นการทบทวนเรื่องที่ได้รับรู้จากกิจกรรมอื่น และนำมาสัมพันธ์กับเนื้อหา โดยมีรูปแบบการจัดกิจกรรมหลายวิธี ดังนี้
2.1 การทำท่าทางประกอบเพลงหรือคำคล้องจอง เป็นการจัดกิจกรรมให้เด็กเคลื่อนไหวหรือบริหารร่างกายอย่างอิสระประกอบเพลงหรือคำคล้องจอง
2.2 การปฏิบัติตามคำสั่ง เป็นการจัดกิจกรรมให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายตามที่ครูออกคำสั่ง เช่น การจัดกลุ่มตามจำนวน การทำท่าทางตามคำสั่งต่างๆ ฯลฯ
2.3 การปฏิบัติตามข้อตกลง เป็นการจัดกิจกรรมโดยให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายตามข้อกำหนด เช่น การฝึกความจำสถานที่สมมติ สัญญาณ ท่าทาง เกมการละเล่น ฯลฯ
2.4 การเป็นผู้นำ ผู้ตาม เป็นการจัดกิจกรรมโดยให้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายหรือทำท่าทางเป็นผู้นำให้เพื่อนปฏิบัติตาม สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป
2.5 การทำท่าทางตามจินตนาการ เป็นการจัดกิจกรรมโดยให้เด็กทำท่าทางต่างๆ ตามความคิด จินตนาการ โดยฟังคำบรรยายเรื่องราว เพลง ทำนอง โดยทำท่าทางตามจินตนาการประกอบอุปกรณ์ เช่น ห่วงพลาสติก ริบบิ้น เชือก ฯลฯ
ลักษณะของการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะมีทั้งเดี่ยวและกลุ่ม โดยเด็กจะมีอิสระในการคิดอย่างสร้างสรรค์และหลากหลาย แต่ยังคงอยู่ในข้อกำหนดและสัญญาณที่ตกลงไว้กับเด็ก และเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติการสอนของครู จึงได้มีการกำหนดไว้เป็นตารางกิจกรรมประจำวัน ซึ่งในแต่ละวันจะต้องจัดให้ครบทั้ง 6 กิจกรรม แต่สามารถปรับและยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม
จะเห็นได้ว่า การจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะจะต้องประกอบด้วยกิจกรรมที่เป็นกิจกรรมพื้นฐานและกิจกรรมที่สัมพันธ์เนื้อหา ลักษณะของการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะมีทั้งเดี่ยวและกลุ่ม โดยเด็กจะมีอิสระในการคิดอย่างสร้างสรรค์และหลากหลาย แต่ยังคงอยู่ในข้อกำหนดและสัญญาณที่ตกลงไว้

3.5 ลักษณะของการเคลื่อนไหวและจังหวะ
การเคลื่อนไหวและจังหวะเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน มีตั้งแต่การใช้ทักษะ การพัฒนาความรู้สึกนึกคิด การจินตนาการ การพัฒนาอารมณ์และสังคม พัฒนาการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างอิสระขณะเคลื่อนไหว ตามลักษณะและวิธีการของการเคลื่อนไหว ซึ่ง วรี เกี๋ยสกุล (2547 : 133 - 134) ได้จำแนกการเคลื่อนไหวและจังหวะเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. การเคลื่อนไหวพื้นฐาน เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ต้องใช้กล้ามเนื้อใหญ่ เพื่อให้ร่างกายได้ใช้กลไกทั้งหมดทำให้เกิดการกระตุ้นระบบการทำงานของร่างกาย จำแนกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้
1.1 การเคลื่อนไหวอยู่กับที่ (Nonlocomotor Movement) เป็นการเคลื่อนไหวโดยที่ร่างกายไม่ต้องเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่ร่างกายทุกส่วนได้มีการเคลื่อนไหว กิจกรรมการเคลื่อนไหวในกลุ่มนี้ได้แก่ การงอ การก้ม การเหยียด การบิด การหมุน การโยก การแกว่ง การโอนเอน การดัน การดึง การสั่น ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้เด็กจะแสดงออกโดยไม่ต้องเคลื่อนที่จากจุดยืนเดิมของเด็ก การทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่กับที่นี้ เด็กจะได้เรียนรู้เรื่องการใช้พื้นที่ การใช้เวลา และการรู้จักตน
1.2 การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ (Locomotor Movement) หมายถึงการเคลื่อนไหวที่ย้ายจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง ได้แก่ การเดิน การวิ่ง การกระโดด การลื่นไถล การควบม้า เป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เรียนรู้จักตนเองและการใช้ร่างกายที่ลื่นไหล
2. การเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์ เป็นการเคลื่อนไหวโดยใช้อุปกรณ์ร่วมขณะทำกิจกรรมเพื่อให้เกิดกิจกรรมกลไกของร่างกาย ลักษณะของการเคลื่อนไหวนี้ จำแนกได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
2.1 การทำให้วัตถุที่อยู่นิ่งเคลื่อนที่ เช่น ขว้างลูกบอล ตีวงล้อ กิจกรรมนี้เด็กจะเป็นผู้กระทำกับวัตถุเป็นหลัก
2.2 การหยุดวัตถุที่เคลื่อนที่ เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้เด็กรับหรือหยุดวัตถุที่กำลังเคลื่อนที่มาหา เช่น รับลูกบอล รับของที่โยนมา เป็นต้น
2.3 การเคลื่อนที่ไปพร้อมกับวัตถุ เช่นการอุ้มลูกบอลแล้ววิ่ง หรือวิ่งเตะลูกบอล วิ่งโบกสายรุ้ง เป็นต้น สิ่งที่เด็กได้รับแลเรียนรู้จากกิจกรรมนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเข้าใจตนเองและผู้อื่น มิติสัมพันธ์ การวางตัว
3. การเคลื่อนไหวประกอบจังหวะ ภาษาเด็กปฐมวัยเรียกว่ากิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมนี้มีดนตรี เพลง หรืออุปกรณ์เคาะจังหวะประกอบ เพื่อให้เด็กมีสุนทรียะกับจังหวะ ดนตรี และการเคลื่อนไหวที่งดงาม เด็กได้สร้างสรรค์จินตนาการและพัฒนาอารมณ์ที่ดี รวมถึงการรับรู้ที่จะมีวินัย มีระเบียบในการฝึกความพร้อมเพรียงในการทำกิจกรรมด้วย
สุรางศรี เมธานนท์ (2528 : 5 - 7) ได้แบ่งประเภทการเคลื่อนไหว ดังนี้
1. การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่ (Nonlocomotor Movement) คือการเคลื่อนไหวโดยที่ร่างกายไม่ต้องเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง แต่จะเป็นการใช้ร่างกายทุกส่วนให้ตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนใหญ่ๆ การเคลื่อนไหวแบบไม่เคลื่อนที่มี ดังนี้
ก้มตัว คือการงอ พับข้อต่างๆ ของร่างกายที่จะทำให้ร่างกายส่วนบนเข้าใกล้กับ
ส่วนล่าง
การยึดเหยียดตัว คือการเคลื่อนไหวที่ตรงกันข้ามกับการก้มตัว โดยพยายามยืดเหยียด
ทุกส่วนของร่างกายให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
การบิดตัว คือการเคลื่อนไหวร่างกายโดยการบิดลำตัวท่อนไปรอบๆ แกนตั้ง
การหมุนตัว คือการหมุนตัวไปรอบๆ ร่างกายมากกว่าการบิดตัว ซึ่งทำให้เท้าต้องหมุน
ตามไปด้วยข้างใดข้างหนึ่ง
การโยกตัว คือการย้ายน้ำหนักจากส่วนหนึ่งของร่างกายไปยังอีกส่วนหนึ่งของร่างกาย
โดยส่วนทั้งสองจะต้องแตะพื้นคนละครั้งสลับกันไป
การแกว่งหรือหมุนเหวี่ยง คือการเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งโดยหมุนรอบจุดใดจุด
หนึ่ง ให้เป็นรูปโค้งหรือวงกลมหรือแบบลูกตุ้มนาฬิกา
การโอนเอน คล้ายกับการโยก ส่วนโค้งจะเป็นโค้งเข้าหาพื้น การเอียงแบบนี้ไม่รู้สึก
ผ่อนคลายเหมือนกับการแกว่ง
การดัน การเคลื่อนไหวโดนการดันมักจะเป็นการดันออกจากร่างกาย
การดึง คือการเคลื่อนไหวที่ตรงกันข้ามกับการดัน คือมักจะเป็นการดึงเข้าหาร่างกาย
การสั่น คือการเคลื่อนไหวที่มีการสั่นสะเทือนของส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือ
ทุกส่วน
การตี เป็นการเคลื่อนไหวที่เร็วและหยุด

2. การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ (Locomotor Movement) มีพื้นฐานอยู่ 8 อย่างคือ
การเดิน คือการเคลื่อนที่ด้วยการก้าว เป็นการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหนึ่งไปยังอีก
เท้าหนึ่ง และขณะเปลี่ยนน้ำหนักตัวนั้นเท้าข้างหนึ่งจะอยู่บนพื้นเสมอ
การวิ่ง เป็นการเคลื่อนที่โดยการเปลี่ยนน้ำหนักตัวจากเท้าหนึ่งไปยังอีกเท้าหนึ่ง และ
ขณะเปลี่ยนน้ำหนักตัวนั้นเท้าทั้งสองจะไม่อยู่บนพื้นเลย
การกระโดดเขย่ง คือการกระโดดขึ้นจากพื้น แล้วกลับลงสู่พื้นด้วยเท้าข้างใดข้างหนึ่ง
เพียงข้างเดียว
การกระโดด การกระโดดขึ้นจากพื้น แล้วกลับลงสู่พื้นด้วยเท้าทั้งสองข้าง
การกระโจน คือการเคลื่อนที่ด้วยการถ่ายน้ำหนักตัวจากเท้าหนึ่งไปยังอีกเท้าหนึ่งด้วย
การกระโดดเผ่นขึ้นจากพื้น การลงสู่พื้นปลายเท้าจะลงสู่พื้นก่อน แล้วเป็นฝ่าเท้าและส้นเท้า จบลงด้วยการงอเข่า
การกระโดดสลับเท้า คือการก้าวแล้วกระโดดเขย่งด้วยเท้าเดิม
การสไลด์ คือการก้าวไปข้างหน้าแล้วลากชิด (จังหวะเร็ว)
การควบม้า เป็นการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยการก้าวแล้วชิดเท้าอีกข้างหนึ่งเข้าไปชิด
เท้าหน้า แล้วกระโดดขึ้น เมื่อลงสู่พื้นให้เท้าที่ก้าวนำอยู่หน้าเสมอ
นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์หรือวัตถุ ซึ่งเป็นการให้เด็กได้มีการเคลื่อนไหวโดยใช้วัตถุหรืออุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งประกอบ การใช้อุปกรณ์ประกอบนี้จะช่วยให้เด็กมีการพัฒนาการทำงานประสานกันระหว่างประสาทมือกับตา ประสาทเท้ากับตา และประสาทมือ เท้าและตา ดีขึ้น และตามปกติแล้วเด็กจะมีความสนุกสนานกับการเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์นี้มาก ฉะนั้นครูควรจะจัดวัสดุอุปกรณ์หรือวัตถุอื่นๆ ที่จะสามารถให้เด็กได้ใช้ในการประกอบการเล่นหรือการเคลื่อนไหวนี้ให้มากที่สุด อุปกรณ์ที่จะจัด จัดหาได้ง่าย เช่น ถุงถั่ว ลูกบอลขนาดต่างๆ เชือก ห่วงยาง เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กได้มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวได้อย่างดีและกว้างขวาง (วรศักดิ์ เพียรชอบ. 2527 : 147 - 149)
จะเห็นได้ว่า ลักษณะของการเคลื่อนไหวและจังหวะจะต้องประกอบไปด้วย การเคลื่อนไหวพื้นฐาน และการเคลื่อนไหวประกอบอุปกรณ์ ซึ่งมีทั้งการเคลื่อนไหวเคลื่อนที่และการเคลื่อนไหวอยู่กับที่

3.6 ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและจังหวะ
ทฤษฎีที่ใช้เป็นแนวคิดในการศึกษาครั้งนี้คือ
1. ทฤษฎีการเรียนรู้ของ ธอร์นไดค์ (Thorndike’s Law of Learning) ซึ่งเน้นการเรียนรู้ที่สำคัญด้วยกฎ 3 ประการ (Thorndike. n. d. อ้างถึงใน เชาวลิต ภูมิภาค. 2532 : 109 - 110) ได้แก่
1.1 กฎแห่งความพร้อม (Law of Readiness) การเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กมีความพร้อมทั้งทางกายและทางใจ เกี่ยวกับร่างกาย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมการใช้กล้ามเนื้อและระบบประสาทให้สัมพันธ์กัน และเพื่อเป็นการฝึกทักษะ เกี่ยวกับทางจิตใจ เป็นความพร้อมทางด้านสมองและสติปัญญา และควรคำนึงถึงความพร้อมในวัยต่างๆ ด้วยว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เมื่อเด็กมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี
1.2 กฎแห่งการฝึกหัด (Law of Exercise) เด็กจะเรียนรู้จากการกระทำซ้ำๆ กันหลายๆ ครั้ง เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและจังหวะเด็กจะเกิดทักษะในแบบต่างๆ ซึ่งทำให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานสัมพันธ์กันดี
1.3 กฎแห่งผล (Law of Effects) เด็กจะเรียนรู้ได้ดีถ้าผลของการกระทำนั้นเป็นไปในทางบวกหรือทางที่ดี ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความสนใจ เกิดทักษะ ทำให้เด็กมีความสนุกสนานและความพอใจ
2. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์ (Piaget’s Cognitive Development Theory) เพียเจต์ถือว่าการให้เด็กได้สัมผัสวัตถุต่างๆ จะส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ โดยเฉพาะในเด็กปฐมวัยซึ่งอาศัยการรับรู้เป็นสื่อในการกระตุ้นทางความคิดของเด็ก จำเป็นต้องให้เด็กได้มีโอกาสเคลื่อนไหวและสัมผัสสิ่งต่างๆ ทฤษฎีนี้เป็นประโยชน์ในการจัดเนื้อหากิจกรรมทางการเคลื่อนไหว โดยให้เด็กได้สัมผัสกับวัตถุต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเด็ก ซึ่งจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ในสิ่งใหม่ (Piaget. 1952)

3.7 หลักในการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ
พัชรี ผลโยธิน (2523 : 127 – 130) ได้ให้ข้อเสนอแนะสำหรับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะสำหรับเด็กปฐมวัยไว้ดังนี้ คือ
1. ควรเริ่มจากการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระ ไม่ควรมีระเบียบและวิธีการยุ่งยากนัก เช่นให้เด็กได้กระจายอยู่ภายในห้องและเคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติของเด็ก
2. ให้เด็กได้แสดงออกด้วยตนเองอย่างมีอิสระและเป็นไปตามความนึกคิดของเด็กเอง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แสดงความนึกคิด ความรู้สึกต่างๆ
3. ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กหาวิธีการเคลื่อนไหวทั้งที่ต้องเคลื่อนที่เป็นรายบุคคล เป็นคู่ เป็นกลุ่ม ตามลำดับ
4. ให้เด็กได้แสดงเลียนแบบในเรื่องต่างๆ เช่น
4.1 กิจกรรมตามธรรมชาติ เช่น ตกปลา พายเรือ ว่ายน้ำ เป็นต้น
4.2 ชีวิตรอบตัวเด็ก เช่น ชีวิตในบ้าน ในโรงเรียน
4.3 ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ลม พายุ เป็นต้น
4.4 ชีวิตสัตว์ต่างๆ
4.5 เครื่องเล่นต่างๆ เช่น รถไฟ เรือ เครื่องบิน เป็นต้น
4.6 ความรู้สึกนึกคิด เช่น หัวเราะ ตกใจ ร้องไห้ เกลียด เป็นต้น
4.7 เสียงต่างๆ เช่น เปาะแปะ ติ๊กต๊อก เป็นต้น
กิจกรรมเหล่านี้ครูควรจัดให้เด็กได้แสดงออกเป็นท่าทางหรือการเคลื่อนไหวอิริยาบถในแบต่างๆ
5. พยายามใช้สิ่งของที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก เศษวัสดุต่างๆ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ เศษผ้า เศษเชือก เข้ามาช่วยในการเคลื่อนไหว
6. ครูควรกำหนดจังหวะ สัญญาณนัดหมายในการเคลื่อนไหวต่างๆ หรือเมื่อเปลี่ยนท่าหรือหยุดให้เด็กได้ทราบเมื่อทำกิจกรรมทุกครั้ง
7. การสร้างบรรยากาศอิสระในห้องเรียน ช่วยให้เด็กมีความรู้สึกอบอุ่น เพลิดเพลิน รู้สึกสบายและสนุกสนาน
8. ครูไม่ควรบังคับให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรม เด็กที่อยู่นิ่งๆ ไม่กี่คนนั้นจะค่อยๆ เข้าร่วมกิจกรรมเอง
9. ครูควรจัดให้มีเกมการเล่นซึ่งจะช่วยให้เด็กสนใจมากขึ้น
10. หลังจากเด็กได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายแล้ว ครูอาจเปิดเพลงจังหวะช้าๆ ที่สร้างความรู้สึกให้เด็กสงบและอยากพักผ่อน หรืออาจแบ่งเด็กออกเป็น 2 กลุ่ม ผลัดกันทำกิจกรรมเพื่อที่เด็กจะได้พักผ่อนไปในตัว
11. ครูต้องเตรียมจัดกิจกรรมทุกครั้งให้เป็นที่น่าสนใจ สนุกสนาน และทำกิจกรรมทุกวัน วันละประมาณ 15 – 20 นาที
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2534 : 11 - 12) ได้กล่าวถึงบทบาทของครูในการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ ดังนี้
1. ครูควรสร้างบรรยากาศที่จะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในการเล่น กล้าแสดงออก และมีความสนุกสนาน
2. ครูควรสนับสนุนให้เด็กมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. ไม่ควรชี้แนะเด็กในเรื่องความคิดมากเกินไป แต่ควรพูดในเชิงเสนอแนะ เมื่อเด็กบางคนยังคิดไม่ออก
4. ก่อนที่กิจกรรมจะสิ้นสุดลง ครูควรให้เด็กพักผ่อนนิ่งๆ อย่างน้อย 2 นาที โดยให้เด็กนั่งหรือนอนลงถ้าพื้นสะอาด ให้เด็กอยู่ในท่าสงบนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวสักครู่ จะเป็นการพักผ่อนหลังจากออกกำลังกาย
5. ควรจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ วันละไม่น้อยกว่า 15 – 20 นาที
6. ในระยะแรกควรให้เด็กออกมาร่วมกิจกรรมทีละกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 10 คน แต่ในระยะต่อไปเมื่อเด็กเข้าใจสัญญาณกิจกรรมแล้วอาจเพิ่มจำนวนเด็กมากขึ้น
7. ครูอาจใช้กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะสัมพันธ์กับทักษะทางคณิตศาสตร์ เช่น เมื่อได้ยินสัญญาณ “หยุด” ครูสั่งให้เด็กจับกลุ่มจำนวน 3 คน เป็นการฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์
ดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (2522 : 12 - 13) ได้เสนอแนวทางในการจัดกิจกรรมพื้นฐานการเคลื่อนไหวและจังหวะ มีองค์ประกอบที่สำคัญหลายประกาย สำหรับในการวิจัยของเด็กปฐมวัยประกอบด้วยด้วย 5 องค์ประกอบ ดังนี้
1. การรู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย
การเตรียมร่างกายให้พร้อมทุกส่วน เพื่อให้มีความคล่องตัว ถือว่าเป็นการปูพื้นฐานเบื้องต้นที่สำคัญอย่างหนึ่ง เด็กต้องรู้ว่าร่างกายแต่ละส่วนเคลื่อนไหวอย่างไรและมากน้อยเพียงใด ร่างกายเป็นเครื่องมือของการเคลื่อนไหว เด็กจะต้องฝึกหัดให้เข้าใจถึงลักษณะสภาพและการใช้ร่างกายของตนเอง ว่าตนสามารถเคลื่อนไหวแต่ละส่วนได้อย่างไร ร่างกายส่วนไหนเรียกว่าอะไร อยู่ตรงไหน มีขนาด สั้นยาว เล็กใหญ่ แคบกว้าง อย่างไร เช่น โค้ง งอ บิด เบี้ยว เอี้ยว เอียง หรือขยับเขยื้อนส่วนใดได้บ้าง ให้เด็กหัดเอง ลองเอง การฝึกหัดเช่นนี้เป็นการเตรียมตัวเด็กให้พร้อมที่จะเคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. บริเวณและเนื้อที่
การเคลื่อนไหวนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพียงการขยับเขยื้อนร่างกายบางส่วนหรือการเคลื่อนตัวย่อยต้องการบริเวณและเนื้อที่ที่จะเคลื่อนไหวได้จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งอยู่ตลอดเวลา บริเวณเนื้อที่จึงเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการเคลื่อนไหว
3. ระดับของการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวทุกชนิด หากไม่มีการเปลี่ยนระดับความสวยงาม ความสมดุล ความเหมาะสมแล้วท่าทางที่หลากหลายจะไม่เกิดขึ้น จะปรากฏแต่ความจำเจซ้ำซาก ความแข็งกระด้าง ไม่น่าดู ท่าของนาฏศิลป์ต่างๆ ที่งดงามจะมีการเปลี่ยนระดับของการเคลื่อนไหวตลอดเวลา เช่น เซิ้งอีสาน หรือรำกลองยาว มีการก้ม เงย แขน โบกขึ้นลง มียืน นั่ง กระโดด ฯลฯ การเปลี่ยนระดับทำให้เกิดท่าทางและการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกันออกไป การที่เราจะให้เด็กเคลื่อนตัวทั้ง 3 ระดับ คือ สูง กลาง และต่ำ นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปกติเด็กจะเคลื่อนตัวอยู่ในระดับเดียวเท่านั้น การเริ่มปูพื้นฐานครูจึงต้องใช้เทคนิควิธี เช่น การสมมติให้เด็กเป็นสัตว์ สิ่งของ อะไรก็ได้ที่สูงที่สุด หรือต่ำที่สุด การทำตัวเป็นลูกโป่งลอย ใบไม้ร่วงลงสู่พื้น ฯลฯ เป็นการทำให้เด็กเข้าระดับเสียก่อนแล้วพยายามกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนระดับ
4. ทิศทางของการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหวย่อมมีทิศทางไปข้างหน้า ไปข้างหลัง ไปข้างๆ หรือเคลื่อนตัวได้รอบทิศ ถ้าไม่ได้รับการฝึก ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่มักจะเคลื่อนตัวไปข้างหน้าแต่เพียงอย่างเดียว ในการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวสำหรับเด็ก โดยให้เด็กเปลี่ยนทิศทางต่างๆ ตลลอดเวลา จะช่วยให้ทุกคนเคลื่อนตัวไปโดยอิสระด้วนความเชื่อมั่น เป็นตัวของตัวเอง
5. การฝึกจังหวะ
การทำจังหวะนั้นมิได้หมายถึงการกำกับจังหวะด้วยการตบมือ เคาะเท้า หรือใช้เครื่องเคาะจังหวะอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงการทำจังหวะด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง การเปล่งเสียงออกจากลำคอ การทำให้ร่างกายส่วนต่างๆ เกิดเสียงก็ได้ทั้งสิ้น การทำจังหวะแบ่งออกเป็น 4 วิธี ดังนี้
5.1 การทำจังหวะด้วยร่างกายส่วนต่างๆ เริ่มต้นโดยการให้เข่าขยับเขยื้อนร่างกายตามจังหวะ เช่นพยักหน้า โคลงศีรษะ ขยับปลายจมูก เป่าแก้ม ขยับศอก ฯลฯ และฝึกให้ใช้ร่างกายที่ทำให้เกิดเสียงดังชัดเจน 4 แบบ ด้วยกัน คือ ตบมือ ตบตัก ตบเท้า ดีดมือ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำเสียงประกอบจังหวะได้ดังชัดเจนกว่าส่วนอื่น นอกจากนี้ยังมีการแตะสัมผัสร่างกายล้วนๆ หรือสลับกับทำร่างกายให้เกิดเสียง โดยให้เด็กได้คิดเองหรือช่วยกันคิดก็ได้
5.2 การทำจังหวะด้วยการเปล่งเสียง คือการใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการทำจังหวะได้ อาจจะเป็นพยางค์โดด ทั้งที่มีความหมายและไม่มีความหมาย เช่น อี่ออ อี่ออ ตุ้ม ตุ๊บปอง ฯลฯ หรือเป็นคำที่มีความหมาย อาจเป็นชื่อคน สัตว์ สิ่งของ เช่น เด็กออกเสียงคำว่า มยุรี มยุรี มยุรี ก็เกิดเป็นจังหวะขึ้นมาในตัวของมันเอง
5.3 การทำจังหวะด้วยการใช้เครื่องเคาะจังหวะ เครื่องมือทุกชนิด ซึ่ง เคาะ ตี ขยับ เขย่า ใช้ทำจังหวะได้ ควรให้เด็กได้สำรวจและหาเสียงจากเครื่องเคาะให้ได้เสียงมากที่สุด
5.4 การทำจังหวะด้วยการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวที่มีเสียงประกอบหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่มีเสียงประกอบ เช่น การก้าวเท้าพร้อมตบมือ การย่อเข่าหรือการโยกตัว สลับซ้ายขวา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้าทำซ้ำกัน ก็จะใช้เป็นจังหวะได้
5.5 จะเห็นได้ว่า แนวทางในการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะนั้น นอกจากจะมีหลักการทั่วไปที่จะต้องคำนึงถึง เช่น การให้อิสระในการเคลื่อนไหว การกระตุ้นให้เด็กคิดเอง ทำเอง ให้เด็กรู้ถึงความสามารถของร่างกายในการเคลื่อนไหว ฯลฯ รวมทั้งองค์ประกอบ 5 ประการ คือ การรู้จักส่วนต่างๆ ของร่างกาย การฝึกจังหวะ การใช้เนื้อที่ ระดับและทิศทาง จะเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมการเคลื่อนไหวและจังหวะให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
จะเห็นได้ว่าในการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ให้แก่เด็กปฐมวัยนั้น ครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กจะต้องเข้าใจถึงหลักการและวิธีการในการจัดกิจกรรม โดยการสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลายและอิสระในห้องเรียน เพื่อช่วยให้เด็กได้มีอิสระในการคิดและแสดงออกด้วยการเคลื่อนไหว

3.8 งานวิจัยที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวและจังหวะ
งานวิจัยในต่างประเทศ
หวาง (Hwang. 1986 : 190) ได้ทำการศึกษาเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของการเคลื่อนไหวและการกระตุ้นทางดนตรีที่ใช้ในโปรแกรมศิลปะในด้านการคิดเชิงสร้างสรรค์ และการสร้างสรรค์ทางศิลปะ ของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีการออกแบบโดยผ่านการเคลื่อนไหวหรือละครเชิงสร้างสรรค์มากระตุ้นความคิดของเด็ก เปรียบเทียบกับการกระตุ้นทางศิลปะด้วยการสอนแบบเดิมโดยใช้การตั้งคำถามทางภาษา ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า การกระตุ้นด้วยการเคลื่อนไหวในบทเรียนศิลปะมีประสิทธิผลเช่นเดียวกับการตั้งคำถามทางภาษา
มีทซ์ (Metz. 1986) ได้ศึกษาการเคลื่อนไหวตอบสนองดนตรีของเด็กปฐมวัยในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่มีโอกาสเลือก โดยวิธีทางธรรมชาติ โดยผู้วิจัยได้ยึดทฤษฎีเกี่ยวกับธรรมชาติของการเคลื่อนไหวในการเรียนการสอนดนตรีในโรงเรียนอนุบาล วิจัยนี้เป็นวิจัยพื้นฐานซึ่งอาศัยทฤษฎีต่างๆ ประกอบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ที่โรงเรียนอนุบาลอริโซน่า เด็กอายุ 2, 3, 4 ปี แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ในการศึกษาครั้งนี้ใช้วีดิโอเทปบันทึกเก็บข้อมูล ได้วิเคราะห์พิจารณาเกี่ยวกับสถานการณ์ปฏิสัมพันธ์ และผลที่ได้รับเกี่ยวกับสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตอบโต้ด้วยการเคลื่อนไหว ซึ่งอาศัย 3 รูปแบบ ในการสังเกตการณ์เคลื่อนไหวตอบสนองดนตรี ได้แก่ รูปแบบแรกประกอบด้วย ทางด้านอารมณ์ ลำดับขั้นการพัฒนา ลักษณะการเป็นผู้นำ รูปแบบ 2 ประกอบด้วย การแสดงเป็นตัวอย่าง การอธิบาย การแนะนำ รูปแบบ 3 ประกอบด้วย การเคลื่อนไหวสนองต่อดนตรี และไม่มีดนตรีเป็นอย่างไร รวมทั้งหมด 7 ประการ ผลการสังเกตพบว่า การเคลื่อนไหวตอบสนองดนตรีในเด็กปฐมวัยนั้นเกี่ยวข้องกับทฤษฎีที่กล่าวมาข้างต้น
งานวิจัยในประเทศ
ศรีสุดา คัมภีร์ภัทร (2534 : 85 - 86) ได้ศึกษาการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และการพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะที่เน้นองค์ประกอบพื้นฐาน พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะที่เน้นองค์ประกอบพื้นฐานมีพัฒนาการด้านทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์สูงกว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะตามแผนการจัดประสบการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติ ส่วน การพัฒนาทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ด้านการเปรียบเทียบและด้านความเชื่อมั่นในตนเองนั้นแตกต่างกัน
เยาวนา ดลแม้น (2535 : 74) ได้ศึกษาผลการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะกับกิจกรรมวงกลม กับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ และการจัดกิจกรรมวงกลมตามแผนการจัดประสบการณ์ก่อนประถมศึกษาชั้นเด็กเล็กของสำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติ มีความคิดสร้างสรรค์แตกต่างกัน กล่าวคือเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์แบบบูรณาการกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะกับกิจกรรมวงกลม มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะ และการจัดกิจกรรมวงกลมตามแผนการจัดประสบการณ์ก่อนประถมศึกษาชั้นเด็กเล็กของสำนักงานคณะกรรมการ การประถมศึกษาแห่งชาติ
ศุภศี ศรีสุคนธ์ (2539 : 63 - 64) ได้ศึกษาความเชื่อมั่นในตนเองของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะโดยใช้ดนตรีไทย กับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะตามแผนการจัดประสบการณ์ชั้นอนุบาล พบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะโดยใช้ดนตรีไทยมีความเชื่อมั่นในตนเองสูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะตามแผนการจัดประสบการณ์ชั้นอนุบาล
ธนาภรณ์ ธนิตย์ธีรพันธ์ (2547 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาเปรียบเทียบการพัฒนาสัมพันธภาพของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวประกอบเพลงก่อนการจัดกิจกรรมและระหว่างการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวประกอบเพลงในแต่ละช่วงสัปดาห์ พบว่า เด็กปฐมวัยก่อนการจัดกิจกรรมและระหว่างการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวประกอบเพลงในแต่ละช่วงสัปดาห์มีการพัฒนาสัมพันธภาพแตกต่างกัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เพิ่มขึ้น

4. เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรี
4.1 ความหมายของดนตรี
ตามปทานุกรม ให้คำจำกัดความว่า ดนตรีคือวิทยาศาสตร์ และศิลปะการรวมเสียงเข้าด้วยกันอย่างมีจังหวะจะโคน (สมโภชน์ รอดบุญ. 2518 : 8 - 11) ได้กล่าวว่า ดนตรีเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่แสดงถึงสุนทรียภาพ ซึ่งเป็นความงามที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาแต่เป็นความงามที่มองเห็นด้วยจิตใจและพลังความนึกคิด โดยที่คิดว่ากวีต่างๆ ได้ประพันธ์อย่างวิจิตรงดงาม ผู้ฟังได้ยินเสียงแล้วเกิดความประทับใจ
ลองแมน (Longman. 1978 : 156) ได้ให้ความหมายว่า ดนตรีคือการรวบรวมเสียงให้เป็นรูปแบบของเสียงที่ไพเราะและน่าพึงพอใจโดยบรรเลงตามตัวโน๊ตที่เขียนขึ้นไว้
วิลเลี่ยนและซีมัวล์ (William and Seymour. 1963 : 245 อ้างถึงใน สุวรรณา ก้อนทอง. 2547 : 15) ให้ความหมายไว้ว่า ดนตรีหมายถึงระดับเสียงสูงเสียงต่ำ เป็นสิ่งที่รับรู้ได้จากการฟัง และเป็นศิลปะที่ผสมกลมกลืนกับช่วงเวลา
สุวรรณา ก้อนทอง ( 2547 : 15) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ดนตรีเป็นระดับการรวบของเสียงทั้งเสียงสูงต่ำเป็นจังหวะ เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ฟังแล้วทำให้เกิดความไพเราะซึ่งเป็นความงามทางด้านจิตใจ
สรุปได้ว่า ดนตรีหมายถึงการรวบรวมเสียงให้เป็นรูปแบบของเสียงที่ไพเราะ มีระดับเสียงสูงเสียงต่ำเป็นจังหวะ เป็นสิ่งที่รับรู้ได้จากการฟังทำให้เกิดความไพเราะซึ่งเป็นความงามทางด้านจิตใจ

4.2 ความสำคัญและคุณค่าของดนตรี
ดนตรีเป็นสื่อภาษาสากลที่ทั่วโลกจะเข้าใจกันได้โดยไม่มีการขัดแย้ง ไม่เลือกเชื้อชาติ วรรณะ อายุ เป็นสื่อในการสร้างสัมพันธภาพระหว่างมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่มนุษย์ยอมรับโดยไม่รู้ตัว (รำไพพรรณ ศรีโสภาค. 2513 : 253) จะเห็นได้ว่า ชีวิตของคนเราคลุกคลีอยู่กับเสียงดนตรีตลอดเวลา เริ่มตั้งแต่การที่ทารกแรกเกิดจะรู้สึกเพลิดเพลินชื่นชม และแสดงความพอใจจากการได้ยินเสียงขับกล่อมของมารดา และยังพบว่าทารกในครรภ์มีการเคลื่อนไหวมากขึ้น เมื่อได้ยินเสียงดนตรี และปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงดนตรีของทารกในครรภ์ขึ้นอยู่กับความดังค่อย เสียงสูงต่ำ จังหวะของดนตรี และสภาพของทารกในครรภ์ด้วย
ดนตรีมีความผูกพันต่อมนุษย์อย่างมาก ดนตรีมีอิทธิพลต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด สามารถโน้มน้าวจิตใจให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม คล้อยตาม เกิดความสุนทรียะ มองโลกในแง่ดี ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยชโลมจิตใจให้เยือกเย็น และในขณะเดียวกันดนตรีก็สามารถกระตุ้นให้คนเราเกิดอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ กัน ความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์สามารถถ่ายทอดได้ด้วยการใช้ดนตรีเป็นสื่อ เช่น ความรักชาติที่ออกมาในรูปเพลงปลุกใจ ความรักของชายหญิงที่ออกมาในลีลาของเพลงรักหวานซึ้ง หรือความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกก็จะออกมาเป็นเพลงกล่อมที่มีความไพเราะอ่อนหวาน อ่อนโยน แฝงไว้ด้วยความนุ่มนวลเหล่านี้เป็นต้น (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2524 : 128) ซึ่งจังหวะ ลีลา และท่วงทำนองของเสียงดนตรีที่เกิดขึ้นจะมีอิทธิพลทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ขึ้นมา เช่นอารมณ์อ่อนไหว รัก เศร้า คึกคัก ร่าเริง หรือกระฉับกระเฉง นอกจากนี้ ทวีป อภิสิทธิ์ (2521. : 16) ยังกล่าวอีกว่า เสียงดนตรีช่วยกล่อมเกลาอุปนิสัยของมนุษย์ที่หยาบกระด้าง ก้าวร้าว โหดเหี้ยมทารุณให้ผ่อนคลายลงได้
ณรุทธ์ สุทธจิตต์ (2534 : 1) กล่าวว่า ดนตรีเป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่มีสาระเฉพาะตัวเอง แม้ว่าในบางครั้งจะมีการจัดดนตรีรวมไว้ในศิลปะก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้ของสาระดนตรีมีความแตกต่างจากศิลปะอย่างเห็นได้ชัด ศิลปะเป็นเรื่องของการรับรู้ทางด้านสายตา ส่วนดนตรีเป็นเรื่องของการรับรู้ทางด้านการฟัง คือโสตศิลป์และศิลปะการแสดง ส่วนสุกรี เจริญสุข (2532 : 4) กล่าวว่า ในชีวิตประจำวันขอวงมนุษย์ในปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับดนตรีมากมาย ทั้งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ งานสังสรรค์รื่นเริง หรืองานพิธีกรรมก็ประกอบไปด้วยเสียงดนตรี หรือแม้ขณะที่เราอยู่คนเดียวหลายคนก็เพลิดเพลินกับเสียงเพลง ฮัมเพลงคนเดียว กิจกรรมเกือบทุกอย่างมีดนตรีเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม แฮมมอนด์ (Hammond. 1967 : 288) กล่าวถึงคุณค่าของดนตรีที่มีต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็กว่า ดนตรีจะเป็นสื่อที่จะทำให้เด็กเข้าใจและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ สุดใจ ทศพร (2516 : 1 - 3) ได้กล่าวว่า ดนตรีเป็นสิ่งที่ทำให้จิตใจเบิกบานร่าเริงแจ่มใส ดนตรีมีบทบาทสำคัญต่อวงสังคมของมนุษย์ โดยทั่วไป แม้แต่นักการเมือง นักการทหารก็ใช้เพลงเป็นเครื่องปลุกใจ หรือเร้าใจให้ประชาชนเกิดความรักชาติบ้านเมืองของตนเอง มนุษย์กับดนตรีเป็นของคู่กัน โลกเจริญก้าวหน้าในด้านวิชาการเพียงใดดนตรีก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากขึ้นเท่านั้น
สรุปได้ว่า ดนตรีสามารถกระตุ้นให้คนเราเกิดอารมณ์ในรูปแบบต่างๆ กัน ความรู้สึกและอารมณ์ของมนุษย์สามารถถ่ายทอดได้ด้วยการใช้ดนตรีเป็นสื่อ นอกจากนั้นดนตรีสามารถโน้มน้าวจิตใจให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้ม คล้อยตาม และเกิดความสุนทรียภาพได้

4.3 องค์ประกอบของดนตรี
ณรุทธ์ สุทธจิตต์ (2540 : 1 - 6) ได้อธิบายองค์ประกอบของดนตรีว่าต้องประกอบไปด้วย จังหวะ ทำนอง เสียงประสาน รูปแบบ สีสัน และลักษณะของเสียง ในแต่ละองค์ประกอบเหล่านี้มีเนื้อหาและแนวคิดพื้นฐานซึ่งจำเป็นที่ผู้ศึกษาด้านดนตรีควรทราบและเข้าใจ ทั้งเนื้อหาและแนวคิดอย่างลึกซึ้ง เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน และเพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษา แต่ละองค์ประกอบอธิบายไว้ ดังนี้
1. จังหวะ (Rhythm) คือการจัดเรียงของเสียง หรือความเงียบ ซึ่งมีความสั้นยาวต่างๆ กัน กำหนดโดยจังหวะตบหรือจังหวะที่สม่ำเสมอ เช่น จังหวะการเต้นของหัวใจ
2. ทำนอง (Melody) คือการจัดเรียงของระดับเสียง ซึ่งมีความสั้นยาว กำหนดโดยจังหวะของทำนอง
3. เสียงประสาน (Harmony) คือระดับเสียงตั้งแต่สองเสียงขึ้นไปที่ร้องหรือเล่นในขณะเดียวกัน ลักษณะของการประสานเสียงมีอยู่ด้วยกันหลายลักษณะ เช่น เป็นลักษณะของการใส่เสียงประสานให้เข้ากับทำนองเพลง 1 ทำนอง หรือเป็นการนำเพลง 2 ทำนองมาร้องพร้อมกัน ทำให้เกิดการสอดประสานของ 2 ทำนอง นอกจากนี้ยังมีการร้องแบบไล่ตามกัน
4. รูปแบบ (Form) เป็นโครงสร้างที่ทำให้ดนตรีมีความหมายในลักษณะของเสียงกับเวลา รูปแบบช่วยทำให้ดนตรีมีความต่อเนื่องสัมพันธ์ ทำให้ดนตรีหรือบทเพลงแต่ละบทมีความเป็นหนึ่ง
5. สีสัน (Timbre) เป็นลักษณะเฉพาะที่ได้จากเสียงร้องของมนุษย์ หรือเสียงที่บรรเลงโดยเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน ระดับเสียงเดียวดันเมื่อใช้เครื่องดนตรีต่างกันก็จะให้อารมณ์หรือคุณค่าต่างกันออกไป 6. ลักษณะของเสียง (Characteristics of Sound) ลักษณะของเสียงเป็นองค์ประกอบดนตรีเกี่ยวกับการถ่ายทอดความรู้สึกหรืออารมณ์เพลงและเรื่องราวเกี่ยวกับความดังค่อยของเสียง

4.4 ลักษณะของดนตรี
สมโภชน์ รอดบุญ(2518 : 40 - 45) ได้แบ่งลักษณะของดนตรีออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ เพลงร้อง และเพลงบรรเลง
1. เพลงร้อง แบ่งออกเป็นแบบร้องเดี่ยว และร้องเป็นหมู่คณะ เพลงที่ร้องเป็นหมู่คณะมีลักษณะและการประสานเสียงให้เกิดความกลมกลืน
2. เพลงบรรเลง ประเภทของเพลงบรรเลงแบ่งออกได้ดังนี้
2.1 Folk Music คือ ดนตรีที่ท่วงทำนองเด็กเพลงพื้นเมืองที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาตินั้นๆ
2.2 Country Music คือ เพลงลูกทุ่งฟังเข้าใจง่าย ถ้าเป็นเพลงตะวันตกท่วงทำนองและลีลาเป็นแบบโคบาลเลี้ยงวัว เครื่องดนตรีที่ใช้เป็นกีตาร์ หีบเพลง
2.3 Popular Music คือดนตรีที่มีท่วงทำนองของเพลงสมัยนิยมมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ ใช้เครื่องดนตรีประเภทใดประเภทหนึ่ง เช่น เปียโน ไวโอลิน ทรัมเป็ต กีตาร์
2.4 Light Music คือ ดนตรีที่บรรเลงโดยวงดนตรีออร์เคสตร้าขนาดใหญ่ บรรเลงอย่างแผ่วเบา นิ่มนวล และสง่างาม ใช้เครื่องลมเป็นเครื่องดนตรีหลักในการบรรเลง เป็นเพลงที่ฟังกันสบายๆ ผ่อนคลายอารมณ์ ฟังได้ทุกเวลา
2.5 Poplar Classical Music คือ เพลงที่มีลักษณะเป็นลูกผสม กล่าวคือ ใช้จังหวะเพลงป๊อป ที่มี Beat ของเสียงกลองเป็นจังหวะตายตัว และใช้แนวทำนองของเพลงคลาสสิกหรือแนวท่วงทำนองหลักมาเป็น Melody
2.6 Lyric Music คือ ดนตรีที่เต็มไปด้วยพลังด้วยอารมณ์ เป็นเพลงที่นำมาจากเพลงที่อ่อนหวาน ไพเราะ บรรยายถึงธรรมชาติ มีท่วงทำนองที่สดชื่น รื่นเริง สบายอารมณ์
2.7 Mood Music คือ เพลงที่มีลักษณะคล้าย Lyric Music แต่มีอารมณ์หลายแบบ ทั้งเศร้าสร้อย สุข ทุกข์ รื่นเริง สนุกสนาน จังหวะของเพลงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา ช้าบ้าง เร็วบ้าง เพลงประเภทนี้มักจะมีเสียงประกอบ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง เสียงคลื่น ฯลฯ
2.8 Light Classical Music คือ เพลงที่มีแบบฟอร์มสลับซับซ้อน มีทั้งเพลงประเภทเต้นรำ เพลงรัก เพลงที่บรรยายถึงธรรมชาติ จะมีลักษณะบรรยากาศที่ช้าและเร็วสลับกันไป
2.9 Classical Music เป็นดนตรีที่เกิดขึ้นจากในวัด ในโบสถ์ จนกลายมาเป็นเพลงชาวบ้าน มีกระบวนเพลงด้วยกันหลายกระบวน เร็ว – ช้า – เร็ว สลับกันไป เป็นเพลงที่ต้องใช้วงดนตรีขนาดใหญ่ เรียกว่าดุริยางค์บรรเลง
2.10 Jazz Music เป็นดนตรีที่มีจังหวะสม่ำเสมอฟังสบายๆ การเล่นมักจะใช้เปียโน แซกโซโฟน และกลองเป็นหลัก แต่มาในระยะหลังพยายามเอาเครื่องดนตรีอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย เช่น คลาริเนต กีตาร์ไฟฟ้า บราโฟน และไวโอลิน ส่วนสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ เบส
สรุปได้ว่า ดนตรีมีหลายลักษณะทั้งที่เป็นดนตรีขับร้อง และดนตรีบรรเลง ในงานวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยได้เลือกดนตรีคลาสสิก ซึ่งมีลักษณะเป็นดนตรีบรรเลงไม่มีเนื้อร้อง มีทำนองที่หลากหลาย มาใช้ในการทำวิจัย

4.5 ลักษณะของดนตรีคลาสสิก
สุกรี เจริญสุข (2532 : 63 - 74) ได้กล่าวว่า ดนตรีคลาสสิกมีความหมายที่ค่อนข้างจะสับสน เนื่องมาจากคลาสสิกมีความหมายหลายด้านด้วยกัน ประกอบกับกาลเวลาที่เปลี่ยนไป จำนวนคนที่ใช้มีมากขึ้น นำไปใช้ในลักษณะที่แตกต่างกัน ความหมายของคลาสสิกสรุปได้ ดังนี้
คลาสสิกหมายถึง สิ่งที่เป็นคลาสสิกจะไม่อยู่ในข่ายความเป็นสมัยนิยม อาจจะเป็นไปได้ว่าความเป็นสมัยนิยมมีผู้นิยมใช้กันมาก แต่ถ้าหนึ่งในจำนวนนั้นได้รับคัดเลือกแล้วก็น่าจะเป็นคลาสสิกได้
ในความหมายของดนตรีคลาสสิก ทำไมถึงเรียกว่า เป็นดนตรีคลาสสิก เพราะเหตุที่ว่าเป็นดนตรีที่แนวทำนอง การประสานเสียง สีสันของเครื่องดนตรี รูปแบบของโครงสร้าง การถ่ายทอดทางอารมณ์ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้ประพันธ์ขึ้นด้วยความประณีต บรรจง ดนตรีเพื่อความงามของเสียงดนตรีเป็นคลาสสิกในแง่ของคุณภาพของงาน
คลาสสิกในความหมายของระยะเวลาที่เรียกว่า สมัยคลาสสิก คือระหว่างปี ค.ศ.1750 จนกระทั่งปี ค.ศ.1810 โดยประมาณ ในช่วงระยะเวลานั้นมีนักดนตรีที่มีชื่อเสียงนำสมัยอยู่ 2 ท่านด้วยกัน คือ โมสาร์ท (Wolfgang Amadeus Mozart) และไฮเดิล (Haydn) ทั้ง 2 ท่านนี้ถือเป็นแบบฉบับของสมัยคลาสสิก ความเด่นของดนตรีในยุคนี้คือการประดับประดาเครื่องเสียงโดยอาศัยลูกเล่นหลีกหนีดนตรีในลีลาที่เรียกว่า โฟลีโฟนี (Polyphony) ซึ่งโฟลีโฟนีอาศัยเทคนิคที่เรียกว่าเคาน์เตอร์พอยน์ มีลักษณะที่ใช้ทุกแนวในการดำเนินเพลง ในขณะเดียวกันทุก ๆแนวจะประสานซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นลักษณะดนตรีที่นิยมใช้ในสมัยบาโรค สมัยคลาสสิกเริ่มนิยมเป็นโฮโมโฟนี คือมีทำนองหลักเด่นแล้วเสียงอื่นๆ มีหน้าที่สนับสนุนความเด่นของเสียงนั้น เรียกว่าเสียงประสาน (Harmony)
ดนตรีคลาสสิกในเมืองไทยนั้นมี 2 ประเภทคือ ดนตรีไทยและดนตรีสากลคลาสสิก
1. ดนตรีไทยคลาสสิก (Thai Classic Music) เพลงไทยที่มีคุณสมบัติสูง ละเอียดอ่อน มีความไพเราะ ต้องอาศัยความสามารถสูงนั้น มักจะเป็นเพลงหน้าพาทย์ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงชั้นสูง น้อยคนที่จะเล่นได้ เพราะต้องมีงานพิธีที่เกี่ยวข้อง เมื่อนานๆ เล่นครั้งนับวันคนที่เล่นได้ก็ค่อยๆ ลดน้อยลง ฝ่ายผู้ฟังไม่เกิดความซาบซึ้งเพราะไม่เคยได้ยิน ดนตรีคลาสสิกวนเวียนอยู่ในกลุ่มชนเล็กๆ และขณะเดียวกันคนจำนวนมากไม่มีโอกาสเข้าถึง
2. ดนตรีสากลคลาสสิก การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางดนตรีนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา การฟังและชื่นชมดนตรีคลาสสิกตะวันตกนั้นขึ้นอยู่กับค่านิยม หรือแนวนิยมในการฟัง ด้วยเหตุที่ว่าดนตรีส่วนใหญ่ต้องอาศัยผู้อุปถัมภ์ค้ำชูวงดนตรีถึงจะอยู่ได้ และถ้าหากวงดนตรีขาดผู้ฟัง วงดนตรีก็ย่อมอยู่ไม่ได้ ในสมัยคลาสสิกนักดนตรีอาศัยอยู่ในบ้านผู้ดีมีเงิน หรือในราชสำนักต่างๆ มีวงดนตรีประจำราชสำนัก ผู้ฟังก็เป็นเจ้าของดนตรีซึ่งเป็นผู้มรฐานะ การฟังดนตรีจึงเป็นเวลาว่าง หรือเป็นเวลาพักผ่อน เวลาผ่านไป สังคมเปลี่ยนไป แนวนิยมการฟังดนตรี ส่วนหนึ่งยังยึดแนวนิยมเดิม ความสวยสดงดงามของคนชั้นสูงขัดแย้งกับความเป็นจริงของสังคมไทย ดังนั้น ดนตรีสากลคลาสสิกจึงอยู่ในวงจำกัด กลุ่มเล็กๆ ส่วนใหญ่มีโอกาสชื่นชมกับดนตรีนั้นน้อย
อันที่จริงแล้ว ความไพเราะของดนตรีนั้นไม่เกี่ยวข้องกับชนชั้น ดนตรี คือ ดนตรี มีความไพเราะสำหรับคนทุกชนชั้น เพราะทุกคนมีดนตรีในหัวใจ ดนตรีเกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ จะเห็นได้ว่าดนตรีและเพลงต่างๆ ทำให้ผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลิน เกิดอารมณ์หรือความรู้สึกต่างๆ ต่อบทเพลง
วราวุธ สุมาวงศ์ (ม. ป. ป. อ้างถึงใน สุวรรณา ก้อนทอง. 2547 : 22) ได้อธิบายว่า เนื่องจากบทเพลงคลาสสิกส่วนใหญ่จะเป็นเพลงเถา หรือเพลงชุด คือ มีหลายเพลง หรือหลายท่องรวมกันอยู่ในบทเพลงเดียวกัน รูปแบบที่นิยมกันมีอยู่ 4 ท่อน แต่ละท่อนมีความเร็วช้าต่างกัน เพลงคลาสสิกแต่ละเพลงจึงค่อนข้างยาว และแต่ละท่อนใช้เวลา 5 – 6 นาที แต่ละเพลงใช้เวลาบรรเลง 20 – 30 นาที รูปแบบการประพันธ์บทเพลงซิมโฟนีที่กำหนดไว้แต่โบราณส่วนใหญ่จะเป็นไปตามรูปแบบการประพันธ์เพลโซนาต้า ซึ่งเป็นเพลงที่ประพันธ์ให้เครื่องดนตรีบรรเลงเดี่ยวหรือประกอบกันระหว่างดนตรีที่บรรเลงทำนอง เช่นไวโอลิน และเครื่องดนตรีที่คลอประกอบ เช่น ปิอาโน เป็นต้น บทเพลงโซนาต้าเป็นเพลงที่นิยมและมีกำเนิดมาก่อนบทเพลงประเภทอื่นทั้งหมด จนมีวิวัฒนาการของดนตรีมาเป็นบทเพลงซิมโฟนี ส่วนใหญ่แล้วซิมโฟนีประกอบด้วยเพลงย่อย 4 ท่อน แต่ละท่อนเรียกว่า movement ท่อนแรกส่วนใหญ่จะค่อนข้างเร็ว ท่อนที่สองเป็นเพลงช้าทำนองอ่อนหวานฟังง่ายกว่าท่อนอื่น ท่อนที่สามส่วนใหญ่จะเป็นทำนองสนุกสนาน ส่วนท่อนสุดท้ายจะมีจังหวะเร็วคึกคัก อย่างไรก็ตามได้มีนักแต่งที่วางลักษณะของบทเพลงผิดแผกออกไปบ้าง เช่น อาจจะมีเพิ่มเป็น 5 ท่อน หรือมีเพียง 3 ท่อน แต่ท่อนที่คงลักษณะเดิมส่วนใหญ่เป็นท่อนที่สอง ซึ่งจะมีจังหวะช้ากว่าท่อนอื่นเสมอ

4.6 ดนตรีกับเด็กปฐมวัย
โฮวาร์ด (Howard Taubman) นักศึกษาดนตรี กล่าวว่าไม่เด็กคนใดที่จะไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงดนตรีเว้นไว้แต่ว่า เด็กคนนั้นจะมีความพิการบางอย่าง ถ้าพ่อแม่สังเกตจะพบว่าเด็กตั้งแต่วัยทารกก็สามารถตอบสนองต่อเสียงดนตรีได้ โดยมีการเคลื่อนไหวเมื่อได้ยินเสียงเพลงซ้ำๆ สม่ำเสมอ แต่บางครั้งอาจเห็นว่าเด็กไม่แสดงปฏิกิริยาตอบสนองเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเขากำลังฟังเพลงอยู่อย่างตั้งใจ และเสียงเพลงกำลังซึมซาบเข้าไปในหัวใจของเขสมากเกินกว่าพ่อแม่จะตระหนักถึงได้ (Taubman. n. d. อ้างถึงใน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2524 : 134) Robeck (1978 : 156 อ้างถึงใน มณี เผือกวิไล. 2529 : 40) กล่าวว่ามนุษย์เราเกิดขึ้นมาจากจังหวะ ซึ่งเห็นได้จากจังหวะการทำงานของร่างกาย เช่นจังหวะการหายใจ การเต้นของหัวใจ การไหลเวียนของโลหิต การพูด การเดิน ซึ่งจังหวะเหล่านี้ทารกคุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ภายหลังคลอดแล้วสมองของทารกพร้อมที่จะหัดพูด รับรู้ต่อเสียงต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น เสียงดนตรีจะแทรกความรู้สึกเข้าไปได้เป็นอย่างดี จึงมีผู้กล่าวไว้ว่าทารกจะสงบลงได้ดีเมื่อได้รับการกระตุ้นจากเสียงที่มีจังหวะต่างๆ ครั้นเมื่อเด็กมีวุฒิภาวะและการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น ดนตรีก็ยังคงเป็นสิ่งแวดล้อมอย่างหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาความสามารถของเด็กได้เป็นอย่างดี ดังที่ ซูซูกิ (Zuzuki) อาจารย์ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่นกล่าวว่า การฟังดนตรีตั้งแต่วัยเด็กเป็นสิ่งสำคัญ เด็กควรมีโอกาสได้ฟังดนตรีที่ดี และซ้ำๆ กัน เพราะดนตรีก็เหมือนภาษาพูดของมนุษย์ ถ้าเด็กได้ยินเสียงดนตรีตั้งแต่แรกเกิดก็เท่ากับเด็กได้พัฒนาความรู้เสียงดนตรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสอดคล้องกับแอลเมอร์เชล (Allmershell) ที่กล่าวว่า เด็กในระยะก่อนเข้าโรงเรียนหรือระดับอนุบาลควรได้ยินเสียงดนตรีให้มาก และสม่ำเสมอ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. 2524 : 189) เพราะเด็กสามารถรับรู้เสียงดนตรีที่เขาพึงพอใจ ก็จะช่วยให้เขาเกิดความรู้และอารมณ์ในทางที่ดี
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (2527 : 503) ได้กล่าวว่า ในเด็กปฐมวัย ซึ่งอยู่ในช่วงอายุประมาณ 3 – 6 ปี เด็กวัยนี้มีวุฒิภาวะและความพร้อมในการที่จะรับรู้ และซาบซึ้งกับเสียงดนตรีได้เป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการที่เด็กมีอารมณ์หงุดหงิด แต่เมื่อเด็กได้ฟังเพลงสักครู่ เด็กก็จะค่อยคลายความหงุดหงิดลง เพราะความไพเราะของเสียงดนตรี ลีลา ตลอดจนท่วงทำนอง จะช่วยกล่อมอารมณ์ของเด็กให้เด็กเกิดความเพลิดเพลินตามไปด้วย ผลจากคุณค่าของเสียงดนตรีที่มีต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจของเด็ก นักจิตวิทยาสังคมต่างยอมรับและได้กล่าวถึงคุณค่าของดนตรีว่า
1. ดนตรีก่อให้เกิดความสว่างแก่จิตใจ
2. ดนตรีก่อให้เกิดความสุข
3. ดนตรีก่อให้เกิดความผูกพันรักใคร่
นอกจากนี้ การศึกษาทั้งหลายมีความใกล้ชิดกับเด็กได้เห็นความสำคัญ และกล่าวถึงคุณค่าของดนตรีที่มีต่อเด็กไว้หลายทัศนะ ดังนี้
วิรัช ซุยสูงเนิน (2520 : 14) กล่าวว่าเด็กมีความสนใจดนตรีมาตั้งแต่เล็กๆ จะสังเกตได้จากการแสดงออกถึงความพอใจที่พ่อแม่ร้องเพลงกล่อมให้นอน
ละออ ชุติกร (2527 : 503 - 508) กล่าวว่า ดนตรีทำให้เด็กมีความสุข ความเพลิดเพลิน ซึ่งจะสังเกตได้จากท่าทาง และพฤติกรรมที่แสดงออก ช่วยพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา โดยเฉพาะด้านภาษา ลักษณะนิสัย
พัชรา พุ่มชาติ (2533 : 43) กล่าวว่า ดนตรีนับว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ดนตรีเป็นสิ่งเร้าที่จะจูงใจให้เด็กเกิดอารมณ์และความรู้สึกในทางที่ดี เพราะดนตรีจะช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีความน่าสนใจสนุกสนานเพลิดเพลิน
ประมวล คิดคินสัน (2527 : 107) ได้ศึกษาพบว่า ดนตรีช่วยส่งเสริมสมองซีกขวาซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ ประกอบกับสมองซีกซ้ายที่ส่งเสริมการคิด การใช้เหตุผล เมื่อสมองทั้งสองซีก ทำงานประสานสัมพันธ์กัน จะทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนและจดจำอย่างไม่มีขีดจำกัด
สุวรรณา ก้อนทอง (2547 : 24) ได้กล่าวว่า เสียงดนตรีนับเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทที่สำคัญ และเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาของเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ เพราะว่าดนตรีเป็นสิ่งเร้าที่ช่วยจูงบใจให้เด็กเกิดความสบายใจ และมีความรู้สึกในทางที่ดี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีความน่าสนใจ ซึ่งทำให้เด็กเกิดการตื่นตัวในการเรียนรู้ ดนตรีกับเด็กปฐมวัยควรได้รับการส่งเสริม ขณะเดียวกันก็ควรได้รับการคัดสรรในการฟังเพลงเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการฟัง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสนใจของครู พ่อ แม่ ในการจัดสภาพแวดล้อมทางดนตรีให้แก่เด็ก
สรุปได้ว่า ดนตรีทำให้เด็กมีความสุข ความเพลิดเพลิน นับว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ดนตรีเป็นสิ่งเร้าที่จะจูงใจให้เด็กเกิดอารมณ์และความรู้สึกในทางที่ดี ช่วยส่งเสริมสมองซีกขวาซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ ประกอบกับสมองซีกซ้ายที่ส่งเสริมการคิด การใช้เหตุผล

4.7 ดนตรีกับความคิดสร้างสรรค์
จินตนาการและความรู้สึกนึกคิดมีจุดเริ่มต้นมาจากปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น เสียงน้ำตก เสียงลมพัด เสียงฟ้าร้อง เสียงนกร้อง ฯลฯ จินตนาการทางด้านเสียงจากธรรมชาติเหล่านี้ ได้ถูกนำมาสร้างศิลปะดนตรี ซึ่งมีรูปแบบและท่วงทำนองที่หลากหลาย สุกรี เจริญสุข (2534 : 81) กล่าวว่าดนตรีและศิลปะทุกแขนงเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นใน 3 ลักษณะคือ ลักษณะทางกระบวนการ ซึ่งได้แก่ ลักษณะที่ไวต่อการแก้ปัญหา และการปรับตัว ลักษณะของบุคคลที่แสดงออกให้เห็นด้วยความอยากรู้อยากเห็น ชอบซักถาม ชอบทดลอง มีความคิดริเริ่ม มานะ อดทน และลักษณะของผลผลิต ซึ่งได้แก่ผลงานที่เกิดจากแนวคิดใหม่ๆ
รังสี เกษมสุข (2535 : 48 - 49) กล่าวไว้ว่า ดนตรีเป็นเครื่องมือที่สามารถสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นได้มาก ดังนี้
1. ใช้ดนตรีสอนความคิดสร้างสรรค์ในลักษณะของกระบวนการ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังกระบวนการคิดให้แก่เด็ก เพราะการจะเล่นดนตรีให้ได้ดีสูงสุดตามความสามารถของแต่ละบุคคลนั้น จะต้องได้รับการฝึกฝนให้เรียนรู้อย่างมีขั้นตอน หมายถึงเด็กได้สร้างสรรค์จากมาตรฐานของการเล่นดนตรี จากนั้นเด็กจะสามารถนำมาใช้กับการทำงานอื่น หรือแก้ปัญหาในชีวิตด้วยรูปแบบกระบวนการที่ได้รับการฝึกฝนจากดนตรี
2. ใช้ดนตรีสร้างสรรค์บุคลิกภาพของบุคคล ดนตรีเป็นกิจกรรมที่ต้องแสดงออกถึงโอกาสที่เด็กจะได้พัฒนาบุคลิกภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นในตนเอง ความกล้าแสดงออก และความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
3. ใช้ดนตรีสอนให้รู้จักผลิตผลงานจากแนวความคิดใหม่ๆ เด็กจะรู้สึกอยากแต่งเพลง เขียนเนื้อเพลง และสร้างทำนองเพลงด้วยตนเอง รู้จักประเมินคุณภาพผลงานของตนเอง และปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะติดตัวเด็กไป สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้
จะเห็นได้ว่า ดนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ และครูผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ด้วยดนตรี เป็นผู้คอยกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดและกล้าแสดงออก ซึ่งเป็นการฝึกให้เด็กมีรูปแบบของตนเองและมีความเป็นตัวของตัวเอง

4.8 แนวการจัดกิจกรรมดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย
ณรุทธ์ สุทธจิตต์ (2531 : 140) ได้กล่าวถึง การจัดกิจกรรมดนตรีที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยไว้ ดังนี้
1. สาระดนตรี ควรจัดให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ดังนี้
1.1 องค์ประกอบดนตรี ได้แก่ จังหวะ ทำนอง เสียงประสาน รูปแบบ สีสัน ซึ่งหมายถึง เสียงต่างๆ ในสภาพแวดล้อม และเสียงเครื่องดนตรีบางชนิดที่เด็กสามารถพบเห็นได้
1.2 วรรณคดี ได้แก่ เพลงเด็ก เพลงพื้นบ้าน เพลงศิลปะ เพลงอมตะทั้งเพลงไทยและเพลงคลาสสิก เพลงยอดนิยม และประวัติดนตรี ซึ่งเป็นเรื่องราวของบทเพลง นักประพันธ์ ตลอดจนประวัติดนตรีที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้
1.3 ทักษะดนตรี ได้แก่ การฟัง การร้อง การเล่น การเคลื่อนไหว การอ่าน และการสร้างสรรค์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1.3.1 การฟัง (Listening) เด็กควรมีโอกาสได้ฟังเพลงทุกประเภท ตั้งแต่เพลงสั้นๆ ง่ายๆ จนถึงเพลงที่ยาวขึ้น เพลงสำหรับปูพื้นฐานเพื่อพัฒนาทักษะการฟังให้กับเด็ก ได้แก่ เพลงร้องและเพลงที่บรรเลงด้วยดนตรีล้วนๆ โดยในระยะแรกอาจจะให้เด็กฟังเพลงสั้นๆ เพื่อให้คุ้นเคยกับเสียงต่างๆ ลักษณะของเสียง สูง – กลาง – ต่ำ และให้เด็กตอบ หรือทำท่าทางว่าเสียงที่ได้ยินว่าเสียงนั้นอยู่ในช่วงเสียงใด ในระยะต่อมาอาจจะนำเพลงร้อง เพลงบรรเลงมาเปิดให้เด็กฟังตามลำดับ หลังจากฟังเพลงแล้ว อาจจะให้เด็กสนองตอบต่อการดนตรีด้วยการเคลื่อนไหว
1.3.2 การร้อง (Singing) รวมถึงการพูดคำคล้องจอง และการร้องเพลงต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการร้องหมู่ ควรให้เด็กมีโอกาสร้องเพลงเดี่ยวบ้าง เพื่อพัฒนาทักษะของแต่ละบุคคล การร้องเพลงเน้นที่น้ำเสียงของการร้องเพลง ไม่ใช่การตะโกน เพลงที่จะนำมาสอนควรเป็นเพลงสั้น และใช้ภาษาง่ายๆ จังหวะและทำนองไม่ยากจนเกินไป เนื้อเพลงควรเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก หรืออาจจะเป็นเรื่องของความสนุกสนาน หรือการท่องเที่ยวก็ได้
1.3.3 การเล่น (Playing) เด็กในวัยนี้ควรจะได้เล่นเครื่องประกอบจังหวะทั้งชนิดที่มีระดับเสียง เช่นระนาด เบล และชนิดที่ไม่มีระดับเสียง ได้แก่ กลอง รำมะนา ลูกแซก ฉิ่ง ฉาบ กรับคู่ เป็นต้น หรืออาจจะใช้เครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์ขึ้นใช้เองก็ได้ เช่นระนาดกระป๋อง ระนาดขวดน้ำ กรับหิน เครื่องดีดหนังยาง ฯลฯ
1.3.4 การเคลื่อนไหว (Moving) เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่รับรู้จากการสัมผัส การได้ลงมือกระทำ และการเคลื่อนไหว เพื่อสนองตอบดนตรี กิจกรรมนี้ควรเป็นกิจกรรมที่เด็กควรได้ปฏิบัติเสมอ แต่ควรเป็นรูปแบบของการเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ เบื้องต้น ซึ่งจะทำให้เด็กสนุกสนาน และเกิดการเรียนรู้ ในการจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวนอกจากจะใช้เครื่องประกอบจังหวะแล้ว อาจใช้เพลงร้องหรือเพลงบรรเลงโดยดนตรีล้วนๆ และเน้นที่จังหวะมาประกอบการเคลื่อนไหวก็ได้ เพลงเหล่านี้ได้แก่ เพลงยอดนินมทั่วไป เพลงแจส เพลงคลาสสิก หรือเพลงพื้นบ้านทั้งของไทยและของชาติอื่นๆ แต่ควรจะเลือกเพลงที่มีจังหวะชัดเจน ซึ่งจะทำให้เด็กได้แสดงออกด้วยการเคลื่อนไหวด้วยท่าทางที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเอง หรือช่วยกันคิดระหว่างเด็กกับเด็ก หรือเด็กกับครู
1.3.5 การอ่าน (Reading) นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กวัยนี้ควรใช้สัญลักษณ์ที่ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องใช้สัญลักษณ์ทางดนตรี ซึ่งผู้สอนสามารถคิดขึ้นได้โดยใช้แทนลักษณะของเสียงซึ่งสามารถมองเห็นได้
1.3.6 การสร้างสรรค์ (Creating) เด็กเลือกกระทำได้หลายรูปแบบ เช่น ด้านการร้อง การเล่น การเคลื่อนไหว และการอ่าน การให้เด็กคิดท่าทางประกอบดนตรี หรือเล่าความรู้สึกที่ได้จากการฟังเพลง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์ที่เด็กทำได้ ผู้สอนควรให้คำติชมการสร้างสรรค์ของเด็ก เพื่อเด็กจะได้มีแนวคิดสร้างสรรค์ต่อไป
2. ทัศนคติดนตรี การปลูกฝังทัศนคติที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยนับเป็นสิ่งจำเป็นมาก เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มเรียนดนตรี ผู้สอนจึงควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่พึงพอใจ เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจ ความชอบ และความรักในดนตรี
3. เทคนิควิธีสอนดนตรี ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนครูควรคำนึงถึงจิตวิทยาการสอน และพัฒนาการของเด็ก ผู้สอนจะเข้าใจธรรมชาติของผู้เรียนในกลุ่มของตนเองอย่างถ่องแท้ และปรับวิธีสอนให้เหมาะสมกับพัฒนาการและความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก
สรุปได้ว่า ในการจัดกิจกรรมดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัยจะต้องคำนึงถึงสาระของดนตรี และควรจัดให้ครอบคลุมในเรื่ององค์ประกอบของดนตรี วรรณคดี และทักษะทางดนตรีที่เด็กควรจะได้รับ เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อดนตรีให้กับเด็ก ซึ่งครูปฐมวัยจะต้องมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และสามารถเลือกเพลงได้เหมาะสมกับเด็กด้วย

4.9 งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรี
งานวิจัยในต่างประเทศ
ดร.เทอร์แมน (Dr. Thurman อ้างถึงใน ชัยรัตน์ บัณฑุรอัมพร. 2534 : 34 - 36) ได้เปิดดนตรีให้มารดาที่ตั้งครรภ์ฟังอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ผลปรากฏว่า เด็กที่คลอดออกมามีพัฒนาการทางร่างกายและไอคิวสมองสูงกว่าเด็กทั่วๆ ไป เลี้ยงง่าย มีอารมณ์แจ่มใส และมีความผูกพันกับมารดาอย่างมาก
แฟรงเกนเบอร์เกอร์ (Frankenberger. 1997) ได้ศึกษาผลของการใช้ดนตรีร่วมกับการฝึกอบรมแบบผ่อนคลายกับเด็กที่มีการเรียนรู้ช้า และความก้าวร้าว ผลปรากฏว่าการใช้ดนตรีร่วมกับการฝึกอบรมผ่อนคลาย ช่วยทำให้เด็กมีการเรียนรู้ดีขึ้น และมีความก้าวร้าวทางอารมณ์ลดลง
ริชแมน (Richman. 1976) ได้ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานโดยใช้ดนตรีประกอบกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนปัญญาอ่อนอย่างมาก 30 คน โดยให้ทำงานที่ต้องใช้มืออย่างช้าๆ และเป็นงานที่คล้ายคลึงกับชนิดของงานในโรงงาน เปรียบเทียบการทำงานที่ใช้ดนตรีประกอบ พบว่าการใช้ดนตรีประกอบช่วยปรับปรุงการทำงานได้เป็นอย่างมาก
งานวิจัยในประเทศ
พัชรา พุ่มชาติ (2533 : บทคัดย่อ) ได้ศึกษาและเปรียบเทียบผลของการใช้เสียงดนตรีในการลดพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กปฐมวัย โดยการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ใช้เสียงดนตรีประกอบ กับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ปกติต่อการลดพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือ นักเรียนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวชั้นอนุบาล 1 อายุ 4 – 5 ปี ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2533 โรงเรียนอนุบาลธาตุทอง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะกรรมการการศึกษาเอกชน จำนวน 2 ห้องเรียน ผลการศึกษาพบว่าเสียงดนตรีสามารถลดพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กปฐมวัยได้ ทั้งการก้าวร้าวโดยการกระทำและโดยคำพูด และการใช้เสียงดนตรีประกอบการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ทำให้เด็กปฐมวัยมีพฤติกรรมก้าวร้าวลดลงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์อย่างปกติ
จันทร์เพ็ญ สุภาผล (2535 : 70 - 73) ได้ศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมทางสังคมของเด็กปฐมวัยที่ได้ฟังนิทานประกอบดนตรีควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมการช่วยเหลือ กับเด็กปฐมวัยที่ได้ฟังนิทานประกอบภาพควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมการช่วยเหลือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นอนุบาล 2 อายุ 5 – 6 ปี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2535 โรงเรียนอนุบาลแพร่ สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวะแพร่ จำนวน 30 คน ผลการศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้ฟังนิทานประกอบดนตรีควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมการช่วยเหลือ มีพฤติกรรมทางสังคมดีกว่า เด็กปฐมวัยที่ได้ฟังนิทานประกอบภาพควบคู่กับกิจกรรมส่งเสริมพฤติกรรมการช่วยเหลือ
ฉัตรสุดา เธียรปรีชา (2537 : 50 - 53) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้เสียงดนตรีในการส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัย โดยการจัดกิจกรรมในบรรยากาศที่มีเสียงดนตรีประกอบ กับการจัดกิจกรรมแบบปกติ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนอนุบาลปีที่ 1 อายุ 4 – 5 ปี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2536 โรงเรียนอนุบาลวัดนางรอง สังกัดสำนักงานการประถมศึกษากรุงเทพมหานคร จำนวน 2 ห้องเรียน ผลการศึกษาพบว่า พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมในบรรยากาศที่มีเสียงดนตรีประกอบสูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมแบบปกติ
สุวรรณา ก้อนทอง (2547 : 70 - 72) ได้ศึกษาเปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะประกอบเสียงดนตรีคลาสสิก กับเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะแบบปกติ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 3 ปีการศึกษา 2546 โรงเรียนอนุบาลจินดารัตน์ สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 2 ห้องเรียน ผลการศึกษาพบว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะประกอบเสียงดนตรีคลาสสิกสูงกว่าเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมศิลปะแบบปกติ

บทที่ 3
วิธีดำเนินการวิจัย


ในการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
2. เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย
3. การสร้างและการหาคุณภาพของเครื่องมือ
4. แบบแผนการทดลองและวิธีดำเนินการทดลอง
5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์

1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นเด็กปฐมวัยชาย – หญิง อายุระหว่าง 3 – 4 ปี ที่กำลังศึกษาระดับอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็กพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์
กลุ่มตัวอย่าง
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นเด็กปฐมวัยชาย – หญิง อายุระหว่าง 3 – 4 ปี ที่กำลังศึกษาระดับอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2551 โรงเรียนอนุบาลแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็กพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์ จำนวน 10 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างอย่างง่าย (simple random sampling)

2. เครื่องมือที่ใช้ในงานวิจัย
ในการวิจัยครั้งนี้มีเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยดังนี้
1. แผนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี
2. แบบสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย
3. แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย
4. แบบประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์
5. แบบบันทึกพฤติกรรมรายบุคคล

3. การสร้างและการหาคุณภาพของเครื่องมือ
การสร้างแผนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี มีลำดับขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวและจังหวะของ นิรัตน์ กรองสะอาด (2533) และธูปทอง ศรีทองท้วม (2538)
2. ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับดนตรีของ ฉัตรชุดา เธียรปรีชา (2537) และสุวรรณา ก้อนทอง (2547)
3. สร้างแผนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี ซึ่งมีกรอบของรายละเอียดดังนี้
2.1 ชื่อกิจกรรม
2.2 จุดประสงค์ของการทำกิจกรรม
2.3 สื่อและอุปกรณ์ประกอบการทำกิจกรรม
2.4 ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม
2.5 ขั้นการประเมินผล
4. นำแผนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน เพื่อตรวจพิจารณาและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมโดยใช้เกณฑ์การตัดสิน 2 ใน 3 ท่านของผู้เชี่ยวชาญที่มีความคิดเห็นตรงกัน ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญดังนี้
1. อาจารย์จันทนา เชื้อไทย อาจารย์โรงเรียนวัดสุธาโภชน์ พระนครศรีอยุธยา
2. อาจารย์ภารณี เศรษฐวงศ์สิน อาจารย์โรงเรียนวัดทางยาว พระนครศรีอยุธยา
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรใจ สารยศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
ผลการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ 2 ใน 3 ท่าน มีความเห็นตรงกัน คือ.......
5. นำแผนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรีมาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
6. นำแผนการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรีที่ปรับปรุงเหมาะสมแล้วไปจัดทำเป็นฉบับสมบูรณ์ แล้วนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง

การสร้างแบบสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพเด็กปฐมวัย มีลำดับขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาข้อมูลในเอกสารประกอบการสอนของ บุษบง ตันติวงศ์ (2549) ข้อมูลจาก วิรุณ ตั้งเจริญ (2546) และคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546
2. นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในข้อ 1 มาวิเคราะห์และสร้างแบบสังเกต ให้สอดคล้องกับพัฒนาการของเด็ก 3. สร้างคู่มือในการดำเนินการสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย
4. นำแบบสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อตรวจหาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาของแบบสังเกต จำนวน 3 ท่าน ดังนี้
1. อาจารย์จันทนา เชื้อไทย อาจารย์โรงเรียนวัดสุธาโภชน์ พระนครศรีอยุธยา
2. อาจารย์ภารณี เศรษฐวงศ์สิน อาจารย์โรงเรียนวัดทางยาว พระนครศรีอยุธยา
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรใจ สารยศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
ผลการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านลงความเห็นและให้คะแนนรวม โดยใช้เกณฑ์ค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างแบบทดสอบกับจุดประสงค์การเรียนรู้ (IOC)
5. นำแบบสังเกตและคู่มือดำเนินการสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัยมาปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
6. นำคะแนนที่ได้มาหาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา (α – Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach) (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 200) ปรากฏว่า.....
7. นำแบบสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัยที่ปรับปรุงเหมาะสมแล้วไปจัดทำเป็นฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง

การสร้างแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย มีลำดับขั้นตอนดังนี้
1. แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์จากผลการวาดภาพ ทีซีพี – ดีพี (TCT – DP : Test For Creative Thinking – Drawing Production) ของ เยลเลน และ เออร์บัน (Jellen and Urban)
ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ใช้แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์จากผลการวาดภาพของ เยลเลน และ เออร์บัน (Jellen and Urban) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แบบทดสอบ
ทีซีที – ดีพี (TCT – DP : Test For Creative Thinking – Drawing Production) ซึ่งแปลโดย อนินทิตา โปษะกฤษณะ (2532 : 96) ซึ่งผู้วิจัยดำเนินการตามลำดับขั้นดังนี้
1.1 ศึกษาคุณภาพและวิธีการใช้แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์จากผลการวาดภาพหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แบบทดสอบ ทีซีที – ดีพี (TCT – DP : Test For Creative Thinking – Drawing Production) ของ เยลเลน และ เออร์บัน (กนิษฐา ชูขันธ์. 2541 : 45 ; อ้างอิงจาก (Jellen & Urban. 1986 : 138 - 155) ชาวเยอรมัน เพื่อทำความเข้าใจ

ลักษณะของแบบทดสอบ
แบบทดสอบนี้เป็นแบบทดสอบที่ใช้กระดาษและดินสอ โดยใช้ทดสอบเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม ซึ่งกำหนดรูปแบบดังนี้
1. สิ่งที่กำหนด เป็นสิ่งเร้าที่จัดเตรียมไว้ ในรูปแบบของชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันมี รูปครึ่งวงกลม รูปมุมฉาก รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบไม่สมบูรณ์ จุด รูปรอยเส้นประ รูปเส้นโค้งคล้ายตัว S ซึ่งประกอบอยู่ด้านในและด้านนอกกรอบสี่เหลี่ยมใหญ่
2. การตอบสิ่งเร้า ผู้ถูกทดสอบสามารถตอบสนองได้อย่างอิสระตามจินตนาการโดยการวาดภาพขึ้นมาภายในขอบเขตของช่วงเวลาที่กำหนดให้ และมีเกณฑ์สำหรับยึดถือเป็นหลักในการประเมินคุณค่า ความคิดสร้างสรรค์จากผลการวาดภาพทั้งหมด 11 เกณฑ์
3. การใช้แบบทดสอบ
3.1 ผู้ถูกทดสอบจะได้แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์จากผลการวาดภาพ ทีซีที – ดีพี (TCT – DP : Test For Creative Thinking – Drawing Production) และดินสอดำ ซึ่งไม่มียางลบ เพื่อไม่ให้ผู้ตอบเปลี่ยนภาพที่วาดแล้ว
3.2 ผู้ทดสอบอ่านคำสั่งช้าๆ และชัดเจนดังนี้
- ผู้ถูกทดสอบเข้าใจแล้วให้ลงมือวาดภาพ ถ้าหากมีคำถามในช่วงที่กำลังทำแบบทดสอบ ผู้ทดสอบอาจตอบในลักษณะ “เด็กๆอยากจะวาดอะไรก็ได้ตามที่อยากจะวาดทุกรูปเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งสิ้น ทำอย่างไรก็ได้ไม่มีสิ่งใดผิด”
- ในการทดสอบกำหนดเวลา 15 นาที หลังจากนั้นผู้ทดสอบจะเก็บแบบทดสอบทั้งหมด และเขียนชื่อ อายุ เพศ และชื่อเรื่องภาพไว้มุมขวาบนของแบบทดสอบ
- จดบันทึกเวลาการทำแบบทดสอบของผู้ที่ทำเสร็จก่อน 12 นาที ไว้มุมขวาบนของแบบทดสอบ

ารให้คะแนนความคิดสร้างสรรค์
ในแบบทดสอบทีซีที – ดีพี (TCT – DP) มีชิ้นส่วนรูปร่างต่างๆ 6 ชิ้นส่วน คือ วงกลม จุด มุมฉากใหญ่ เส้นโค้ง เส้นประ สี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กปลายเปิดนอกกรอบสี่เหลี่ยมใหญ่ (ซึ่งกรอบสี่เหลี่ยมไม่นับอยู่ใน 6 ชิ้นส่วนที่กำหนดไว้) ชิ้นส่วนรูปร่างต่างๆ 6 ชิ้นส่วน มีผลต่อการตรวจให้คะแนน โดยการนำภาพวาดแต่ละภาพมาประเมินตามเกณฑ์ 11 ข้อ ดังนี้
1. การต่อเติม (Cn : Continuations)
2. ความสมบูรณ์ (Cm : Completions)
3. ภาพที่สร้างขึ้นใหม่ (Ne : New Elements)
4. การต่อเนื่องด้วยเส้น (Cl : Connections made with lines)
5. การต่อเนื่องที่ทำให้เกิดเป็นเรื่องราว (Cth : Connections made that Contribute to a theme)
6. การข้ามเส้นกั้นเขตโดยการใช้ชิ้นส่วนที่กำหนดให้นอกกรอบใหญ่ (Bfd : Boundary breaking fragment – dependent)
7. การข้ามเส้นกั้นเขตอย่างอิสระโดยไม่ใช้ส่วนที่กำหนดให้นอกกรอบใหญ่ (Bfi)
8. การแสดงความลึก ใกล้ – ไกล หรือมิติของภาพ (Pe)
9. อารมณ์ขัน (Hu)
10. การคิดแปลกใหม่ ไม่คิดตามแบบแผน (Uc)
11. ความเร็ว (Sp)

คะแนนรวมของแบบทดสอบ ทีซีที – ดีพี
ด้านหลังของแบบทดสอบมีข้อเล็กๆ อยู่ 11 ช่อง แต่ละช่องมีรหัสสำหรับให้คะแนน วิธีการให้คะแนนเพียงแต่พับส่วนล่างของแบบทดสอบขึ้นมา ก็สามารถให้คะแนนได้ทันที คะแนนรวมของแบบทดสอบ ทีซีที – ดีพี (Total Score) คือ 72 คะแนน โดยมีรายละเอียดของคะแนนดังนี้ เกณฑ์ข้อที่ 1 – 11 ยกเว้นข้อ 10 คะแนนข้อละ 6 คะแนน ข้อ 10 แบ่งเป็น 4 ข้อย่อย ข้อย่อยละ 3 คะแนน รวม 12 คะแนน

ความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ
การให้คะแนนแบบทดสอบ ทีซีที – ดีพี ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยเป็นผู้ตรวจแบบทดสอบเอง และผู้เชี่ยวชาญ อีก 2 ท่าน เพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของการให้คะแนนของผู้วิจัย คือ 1. อาจารย์วิตินันท์ สุนา อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
2. อาจารย์พรรัก อินทามระ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย
คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
นำผลการให้คะแนนมาเปรียบเทียบดูความแตกต่าง หากคะแนนรายคนแตกต่างกันมากกว่า 3 คะแนน ต้องนำมาวิเคราะห์ตามหลักเกณฑ์การให้คะแนน 11 ข้อ ร่วมกันระหว่างผู้ให้คะแนนทั้ง 3 ท่าน และในการตรวจครั้งนี้พบว่า

การสร้างแบบประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย มีลำดับขั้นตอนดังนี้
1. ศึกษาข้อมูลจากกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 (2548 : 16)
2. นำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในข้อ 1 มาวิเคราะห์และสร้างแบบประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี และพัฒนาการของเด็ก
3. สร้างคู่มือในการดำเนินการประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย
4. นำแบบประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย ไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจเพื่อตรวจหาความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาของแบบประเมิน จำนวน 3 ท่าน ดังนี้
1. อาจารย์จันทนา เชื้อไทย อาจารย์โรงเรียนวัดสุธาโภชน์ พระนครศรีอยุธยา
2. อาจารย์ภารณี เศรษฐวงศ์สิน อาจารย์โรงเรียนวัดทางยาว พระนครศรีอยุธยา
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์พรใจ สารยศ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
ผลการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญทั้ง 3 ท่านลงความเห็นและให้คะแนนรวม โดยใช้เกณฑ์ค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างแบบทดสอบกับจุดประสงค์การเรียนรู้ (IOC)
5. นำแบบประเมินและคู่มือดำเนินการประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยมาปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
6. นำคะแนนที่ได้มาหาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตรสัมประสิทธิ์แอลฟา (α – Coefficient) ของครอนบาค (Cronbach) (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 200) ปรากฏว่า.....
7. นำแบบประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัยที่ปรับปรุงเหมาะสมแล้วไปจัดทำเป็นฉบับสมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่างในการทดลอง

4. แบบแผนการทดลองและวิธีดำเนินการทดลอง
ในการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการทดลองโดยใช้แผนการทดลองแบบ One – Group Pretest – Posttest Design (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 249) ตามตาราง 3.1 ดังนี้

การดำเนินการทดลองมีขั้นตอนดังนี้
1. ทำการสังเกตพัฒนาการทางสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย (pretest) ด้วยแบบสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยดัดแปลงจาก บุษบง ตันติวงศ์ (2549 : 12 - 14)
2. ทำการสังเกตพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย (pretest) ด้วยแบบประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ที่ดัดแปลงจาก กลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 (2548 : 16) และทำการทดสอบความคิดสร้างสรรค์ (pretest) ด้วยแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์โดยการวาดภาพ ทีซีที – ดีพี (TCT – DP : Test For Creative Thinking – Drawing Production) ของ เยลเลน และ เออร์บัน
3. ผู้วิจัยดำเนินการทดลองด้วยตนเอง โดยกลุ่มตัวอย่างจะได้รับการจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวและจังหวะประกอบดนตรี ซึ่งทำการทดลองในช่วงกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ใช้เวลาในการทดลอง 10 สัปดาห์ โดยทดลองสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 1 ครั้งๆ ละ 20 นาที ช่วงระหว่างเวลา 9.00 – 09.20 น. รวมทั้งสิ้น 30 ครั้ง จำนวน 30 กิจกรรม โดยใน 1 วัน มีการจัดกิจกรรม 1 กิจกรรม ดังตาราง 3.2
4. เมื่อดำเนินการทดลองครบ 10 สัปดาห์ ผู้วิจัยทำการทดสอบหลังการทดลอง (Posttest) กับกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้แบบสังเกต แบบทดสอบ และแบบประเมินฉบับเดียวกันกับที่ใช้ก่อนการทดลอง
5. วิเคราะห์ข้อมูล นำข้อมูลที่ได้จากการทำแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ ข้อมูลจากแบบประเมินพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์และแบบสังเกตพัฒนาการสุนทรียภาพ มาทำการวิเคราะห์

5. การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์
ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการทดลองไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ ดังนี้
1. สถิติพื้นฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
1.1 หาค่าเฉลี่ย (Mean) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 73)
1.2 หาค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 79)
2. การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ
2.1 สถิติที่ใช้ในการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือด้านความเที่ยงตรงของเนื้อหา (Content Validity) โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 250)
3. สถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐาน
3.1 เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนก่อนทดลองและหลังการทดลอง โดยใช้ t – test แบบ Dependent Samples โดยคำนวณจากสูตร (ล้วน สายยศ และ อังคณา สายยศ. 2538 : 104)
4. การเปรียบเทียบพัฒนาการสุนทรียภาพของเด็กปฐมวัย
5. การเปรียบเทียบพัฒนาการความคิดสร้างสรรค์ของเด็กปฐมวัย